คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ และโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วและไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9) แม้โจทก์จะยังมิได้นำยึดทรัพย์จำเลยทั้งสามตามหมายบังคับคดี แต่โจทก์ก็นำสืบว่าจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินให้บังคับชำระหนี้ได้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
จำเลยที่ 3 อ้างว่าตนรับราชการมีเงินเดือน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 มิได้นำเงินเดือนดังกล่าวมาผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใดประกอบกับเงินเดือนของจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ด้วยเงินเดือนได้ ทั้งการที่อ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินของ ป. ในราคา 6 ล้านบาทเศษ โดยได้วางมัดจำเป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษแล้วนั้น ก็ปรากฏจากบันทึกตกลงในสัญญาดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 ตกลงรับโอนที่ดินในวันที่ที่ระบุไว้ พร้อมกับชำระราคาที่ดินที่เหลืออีก 2 ล้านบาทเศษ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและ ป. สามารถริบเงินมัดจำได้ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 3 ก็มิได้รับโอนและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือสัญญาดังกล่าวเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่จะโอนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพร้อมที่จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 309/2540 แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,259,930 บาท โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามถึงจำเลยทั้งสามไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามได้รับแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้เป็นหนี้ตามฟ้องและไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 3 รับราชการเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันราชภัฎฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเงินเดือนสูง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 309/2540 ของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีซึ่งยอดหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน4,259,930 บาท ตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ครบกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ขอหมายบังคับคดีจำเลยทั้งสามตามหมายบังคับคดีเอกสารหมาย จ.3 จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ และโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วและไม่ชำระหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) แม้โจทก์จะยังมิได้นำยึดทรัพย์จำเลยทั้งสามตามหมายบังคับคดีก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินให้บังคับคดีชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าจำเลยที่ 3รับราชการอยู่ที่สถาบันราชภัฎฉะเชิงเทรา ตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7อัตราเงินเดือน 21,550 บาทตามหนังสือรับรองเงินเดือนเอกสารหมาย ล.2 นั้น ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 3 ก็มิได้นำเงินเดือนดังกล่าวมาผ่อนชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด ประกอบกับเงินเดือนของจำเลยที่ 3เป็นเงินเดือนของข้าราชการไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ด้วยเงินเดือนได้ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินของนายประหยัด เกตุแก้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2539 เอกสารหมาย ล.7 เป็นเงิน 6,952,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้เป็นเงิน 4,230,000 บาท นั้น แต่ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งจำเลยที่ 3 และนายประหยัดได้ทำบันทึกข้อตกลงกันหลังทำสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่ 3 ตกลงรับโอนที่ดินแปลงนี้ในวันที่ 19 ตุลาคม 2542 พร้อมกับชำระราคาที่ดินที่เหลือจำนวน 2,722,500 บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายฉบับดังกล่าวเป็นอันเลิกกัน และนายประหยัดจะริบเงินมัดจำ ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ได้ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ และได้รับโอนที่ดินแปลงนี้จากนายประหยัดแล้ว ฉะนั้นที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าพร้อมที่จะโอนที่ดินแปลงนี้ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.13 สัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 จึงเลิกกัน คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 3 จึงมิใช่เจ้าของที่ดินที่จะโอนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1449ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 2 งาน 20ตารางวาของจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์อีกจำนวน 500,000 บาท และได้มอบต้นฉบับโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.6แสดงว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าวอันเป็นมูลหนี้ในคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 3 ยังมีหนี้กับโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.6 อีก และที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าสามารถขายที่ดินแปลงนี้ได้ในราคา 10,000,000 บาท หากมีการยึดมาเพื่อขายทอดตลาดนั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพียง 2 งาน 20 ตารางวา อยู่ที่ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าที่ดินแปลงนี้มีสภาพที่ดินเป็นอย่างไร อยู่ในเขตชุมชนอันเป็นแหล่งเจริญหรือไม่ เพียงใดทั้งจำเลยที่ 3 ก็มิได้นำสืบถึงราคาประเมินที่ดินแปลงนี้มาแสดงให้ศาลเห็นว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาสูงตามที่จำเลยที่ 3 อ้าง ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาถึง10,000,000 บาท จึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ ไม่พอฟังว่าที่ดินมีราคาตามที่จำเลยที่ 3 อ้าง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นวิศวกรโยธาและมีอาชีพเสริมแต่จำเลยที่ 3 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่าไม่มีรายได้พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 3ล้มละลาย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาแต่เพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้รับประโยชน์ด้วยนั้นเห็นว่า การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้แต่ละคน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ฎีกาว่ามีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลาย จึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ล้มละลายเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share