คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์หลายคนฟ้องจำเลยโดยอาศัยหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้โจทก์ในฉบับเดียวรวมกัน มิได้แยกการชำระหนี้ไว้ต่างหากจากกัน ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ว่าจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ทุกคนรวม 6,664 บาท แม้มูลหนี้ เดิมของโจทก์แต่ละคนจะเป็นหนี้คนละราย คนละจำนวน ไม่ใช่เจ้าหนี้ร่วมก็ดี แต่โดยที่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถือได้ว่า จำเลยได้ยอมรับว่า ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ละคนแล้ว โจทก์ทุกคนจึงมีอำนาจเข้าชื่อร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในสำนวนเดียวกันได้
สัญญาประนีประนอมยอมความมีว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์ รวม 22 คน เป็นกรณีที่เกิดจากการที่โจทก์บางคนได้ร้องทุกข์กล่าวหาในคดีอาญาว่า จำเลยฉ้อโกง แม้โจทก์ที่ไปร้องทุกข์นั้นจะไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์คนอื่นให้ทำสัญญายอมนั้น ก็ตาม ในการดำเนินคดีแพ่งตามสัญญายอมนั้น โจทก์ไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์ในคดีอาญานั้นเลย เมื่อจำเลยทำหนังสือสัญญายอมไว้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามรายชื่อรวม 22 คน จำเลยก็ต้องรับผิดต่อบุคคลแล้วนั้น ตามสัญญานั้น แม้ว่าเจ้าหนี้บางคนจะมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญายอมดังกล่าว เจ้าหนี้บางคนเช่นว่านั้น ก็มีอำนาจฟ้องความตามสัญญานั้นได้ ไม่เกี่ยวกับว่าเจ้าหนี้ทั้ง 22 คน จะต้องมอบฉันทะให้ผู้หนึ่งผู้ใด ทำสัญญายอมดังกล่าว กับจำเลยด้วยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อ กล่ำหัวไปจากโจทก์ รวมเป็นเงิน ๑๓,๓๒๘ บาท และผัดชำระเงิน เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ในที่สุดจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอม ยอมความขอชำระหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง คือ ๖,๖๖๔ บาทและจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๙๙ โจทก์ตกลงตามนั้น เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้ง ๒ ให้การว่า มิได้ตกลงซื้อกล่ำหัวตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ถูกจับและควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาของโจทก์ที่ได้ไปร้องทุกข์ในเรื่องนี้ไว้ จำเลยที่ ๒ จึงนำหลักทรัพย์ไปประกันตัวและกดพิมพ์นิ้วมือให้ไว้ต่อเจ้าพนักงาน โดยเข้าใจว่าเป็นหนังสือสัญญาประกัน จำเลยที่ ๑, จำเลยที่ ๒ เพิ่งทราบว่าหนังสือที่กดพิมพ์นิ้วมือไว้นั้น เป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความในภายหลังจำเลยทำไปโดยการเข้าใจผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และว่าฟ้องเคลือบคลุม
ศาลฎีกาพิพากษายืน ตามศาลทั้งสองให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๖,๖๖๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้สมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความจริงดังโจทก์ฟ้อง
ในปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้มูลหนี้เดิมของโจทก์ จะเป็นหนี้คนละราย คนละจำนวน ไม่ใช่เจ้าหนี้ร่วมก็ดี โจทก์ก็มีอำนาจร่วมกันฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้ เพราะเหตุว่า โจทก์ทุกคนในคดีนี้ฟ้องจำเลยโดยอาศัยหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้โจทก์ในฉบับเดียวรวมกัน มิได้แยกการชำระหนี้ไว้ต่างหากจากกัน ในสัญญานั้นว่า จำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวนรวมกัน ๖,๖๖๔ บาท เมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ โดยผลแห่งสัญญานี้ ถือได้เสมือนเหนึ่งว่า จำเลยได้ยอมรับว่า ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ละคนแล้ว โจทก์ทุกคนจึงมีอำนาจเข้าชื่อร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า คำร้องทุกข์ที่โจทก์ยื่นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ ๑ ก็หาได้ยื่นครบถ้วนทุกคนไม่ และในชั้นอำเภอ นายปันผู้แทนโจทก์ก็ว่าได้มีหนังสือมอบอำนาจให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการดำเนินคดีแพ่งเรื่องนี้ โจทก์ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และจำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญานั้นไว้ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ รวม ๒๒ คน จำเลยก็จำเป็นต้องรับผิดต่อบุคคลเหล่านั้น การที่จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้านายสุนทรปลัดอำเภอ ฝางรับว่า เป็นหนี้และจะชำระหนี้แก่ผู้ใดแล้ว แม้ผู้นั้นมิได้ลงชื่อเป็นเจ้าหนี้ ก็มีอำนาจฟ้องความได้ จึงไม่จำเป็นต้องรับมอบฉันทะจากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว

Share