คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัท ส. นั้น โจทก์ได้ทำงานรับจ้างต่อไป ตามเดิม ได้รับสิทธิและประโยชน์ต่างๆ จากนายจ้างคนใหม่เช่นที่เคยได้รับอยู่เดิมและได้นับระยะเวลาการทำงานระหว่างเป็นลูกจ้างของจำเลยกับเป็นลูกจ้างของบริษัท ส.ติดต่อกัน ดังนี้ เห็นได้ว่ามิได้มีการเลิกจ้างโจทก์ยังคงมีการจ้างต่อไปตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยเป็นบริษัทส. เท่านั้น จึงเป็นเรื่องโอนการจ้างหาใช่เลิกจ้างไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยจากจำเลย
แม้การโอนการจ้างนี้จะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับบริษัท ส. ก็ถือได้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยโดยปริยายเพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบผูกพันต่อโจทก์ในเรื่องการว่าจ้างทำงานในโรงงานแห่งนี้ หากจำเลยดำเนินการตามสัญญาเช่าไม่ได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องรับโจทก์เป็นลูกจ้างต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำงานในโรงงานนี้ เมื่อหมดสัญญาเช่าจำเลยได้เลิกดำเนินการในโรงงานดังกล่าวและเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า การที่จำเลยมิได้จ้างโจทก์ทำงานต่อไปนั้น เป็นเรื่องโอนการ การจ้างจากจำเลยไปเป็นของบริษัท ส. ตามสัญญาระหว่างบริษัท ส.กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับโจทก์ตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยและโจทก์ก็ได้เข้าเป็นลูกจ้างบริษัท ส. โดยได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดิมและต่อเนื่องกัน อันเป็นการยอมตกลงตามสัญญานั้นแล้วจึงมิใช่เป็นกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เดิมกรมโรงงานอุตสาหกรรมจ้างโจทก์ทั้งหมดทำงานในโรงงานสุราบางยี่ขัน ต่อมาได้ให้จำเลยเช่าโรงงานแห่งนี้ไปดำเนินการ และตามสัญญาเช่าโจทก์จะได้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ต่ำกว่า และได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์อื่น ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในวันเริ่มสัญญาเช่า การให้โจทก์ออกจากงานจะต้องได้รับความยินยอมจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนระยะเวลาการทำงานของโจทก์ให้นับตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างกรมโรงงานอุตสาหกรรม และถ้าจะมีการให้เงินตอบแทนแก่โจทก์นอกไปจากอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่กำหนดไว้ จำเลยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องร่วมกันพิจารณา เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ได้เช่าโรงงานแห่งนี้ต่อไป โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมทำสัญญาให้บริษัท ส.เช่าโดยมีข้อตกลงว่า บริษัท ส. จะต้องรับโอนโจทก์ทั้งหมดมาเป็นลูกจ้างโดยไม่ต้องยื่นใบสมัคร และต้องได้รับสิทธิประโยชน์ฯ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับจากจำเลย กับให้นับเวลาการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกับจำเลยติดต่อกันตลอดมา

ปัญหาที่ว่า การที่โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเข้าเป็นลูกจ้างของบริษัท ส. นั้น โจทก์ได้ทำงานรับจ้างต่อไปตามเดิม ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ต่าง ๆ จากนายจ้างคนใหม่เช่นที่เคยได้รับอยู่เดิมและได้นับระยะเวลาการทำงานระหว่างเป็นลูกจ้างของจำเลยกับเป็นลูกจ้างของบริษัท ม. ติดต่อกัน เห็นได้ว่ามิได้มีการเลิกจ้างโจทก์ยังคงมีการจ้างโจทก์ต่อไปตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยเป็นบริษัท ม. เท่านั้น จึงเป็นเรื่องโอนการจ้าง หาใช่เป็นการเลิกจ้างไม่และการโอนนี้แม้จะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับบริษัท ม. ก็ถือได้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยโดยปริยาย เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบผูกพันต่อโจทก์ในเรื่องการว่าจ้างทำงานในโรงงานแห่งนี้ คดีฟังได้ว่าจำเลยได้โอนการจ้างโจทก์ให้บริษัท ส. จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย

พิพากษายืน

Share