คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่จำเลยบุกรุกเป็นที่ดินที่ราษฎรใช้เก็บผักหักฟืนและเป็นทำเล เลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านานนับร้อยปี จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนและออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณประโยชน์ดังเช่นในกรณีของที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามมาตรา 1304(1) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ แต่อย่างใด
แม้หนังสือที่นายอำเภอมีไปถึงสารวัตรใหญ่มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ก็ตาม แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาด้วยศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองไถและปลูกพืชในที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าไผ่หัวนาดง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ตรี, 9, 108, 108 ทวิ บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน และมีคำสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กระทงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1150/2533 ของศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าการประกาศกำหนดให้ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นที่สาธารณประโยชน์มิได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 5 กล่าวคือ ไม่ได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า ตามทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์มีข้อความระบุว่า ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นที่ดินที่ราษฎรในตำบลบ้านเก่าใช้เก็บผักหักฟืนและเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ร่วมกันมาเป็นเวลาช้านานนับร้อยปี ดังนี้ ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ส่วนที่ดินที่จะต้องออกพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 มาตรา 5 นั้น จำกัดแต่เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1) เท่านั้น ส่วนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนและออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินทุ่งป่าไผ่หัวนาดงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า การที่นายละมูล แก้ววิมล นายอำเภอด่านขุนทดมีหนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 และลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 ถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านขุนทดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยมอบอำนาจให้นายชนะ กมขุนทด กำนันตำบลบ้านเก่า เป็นผู้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ การมอบอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายชนะไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า แม้หนังสือที่นายอำเภอด่านขุนทดมีไปถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านขุนทดมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก็ตาม แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้รับฟังเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาด้วย ศาลฎีกาย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 อนึ่ง คดีนี้ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ที่ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีการร้องทุกข์ตามระเบียบตามมาตรา 121 วรรคสอง ประกอบกับหนังสือที่นายอำเภอด่านขุนทดมีไปถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านขุนทดให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีใจความว่านายอำเภอด่านขุนทดมอบอำนาจให้กำนันตำบลบ้านเก่าเป็นผู้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น มีลักษณะเป็นการกล่าวโทษจำเลยเป็นหนังสือแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละสำนวนเท่ากันและไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า ในสำนวนแรกจำเลยบุกรุกที่ดินของรัฐเป็นเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ส่วนสำนวนหลังจำเลยบุกรุกที่ดินเพิ่มจากที่เคยบุกรุกในสำนวนแรกอีกเพียง 4 ไร่ เท่านั้น สมควรกำหนดโทษให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำตลอดจนผลเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยประกอบด้วย แม้จะได้ความว่าก่อนคดีนี้จำเลยเคยบุกรุกที่ดินแปลงนี้มาครั้งหนึ่งแล้วและถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี และปรับ 5,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หลังจากนั้นจำเลยกลับมากระทำความผิดซ้ำเป็นคดีนี้ก็ตาม แต่ทางพิจารณาได้ความว่า เหตุที่จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกพืชผลในที่ดินพิพาทเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจแม้จะไม่ใช่เหตุผลที่ลบล้างความผิดหรือบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่จำเลยได้กระทำ แต่นับว่าเป็นเหตุอื่นอันควรปรานีและสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลับตนเป็นพลเมืองดี และเพื่อป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีกศาลฎีกาเห็นสมควรคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท สำนวนหลังจำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ สำนวนแรกจำคุก 9 เดือน และปรับ 7,500 บาท สำนวนหลังจำคุก 3 เดือน และปรับ 4,500 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอของโจทก์ที่ให้บวกโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1150/2533 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในสำนวนแรกให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share