คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีตามคำร้องของจำเลยนั้น ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความและไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา226(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนการเช่าอาคาร 4 ชั้นเลขที่ 153 ถึง 185 จากนายสวัสดิ์ สุภธีระ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หลังจากจดทะเบียนการเช่าจำเลยได้เสียค่าเช่าอาคารชั้น 1 และชั้น 2 ให้โจทก์ โจทก์งดเก็บค่าเช่า เพราะได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากอาคารนั้นก่อนแล้วและครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ยอมออก ต่อมาจำเลยทำประตูเหล็กกับอาคารชั้น 1 โจทก์ให้ทนายมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกไป และใช้ค่าเสียหาย จำเลยขัดขืน ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากอาคารดังกล่าว และชำระค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า นายทองม้วน อัตถากร ทำสัญญากับนายสวัสดิ์ สุภธีระ โดยนายทองม้วน อัตถากร จะปลูกสร้างอาคารบนที่ดินของนายสวัสดิ์ สุภธีระ เสร็จแล้วอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสวัสดิ์ สุภธีระ นายทองม้วน อัตถากร มีสิทธิเช่าอาคารและมีสิทธิเรียกค่าก่อสร้างจากผู้เช่าช่วงได้ อาคารเลขที่ 163, 165 นั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นการยนต์ จำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นได้ออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง และค่าหน้าดินและทำสัญญาเช่ามีกำหนด 15 ปี โดยนายสวัสดิ์ สุภธีระ รับทราบการเช่าช่วงเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอาคารเลขที่ 161 นั้น นายเสรี สุภธีระ ผู้เป็นบุตรและตัวแทนของนายสวัสดิ์ สุภธีระ ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า และจำเลยให้การต่อสู้อีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นสั่งว่า ให้ส่งสำเนาคำร้องให้นายเสรี สุภธีระ ถ้านายเสรี สุภธีระจะคัดค้านให้คัดค้านมาภายใน 7 วัน

นายเสรี สุภธีระ ยื่นคำร้องว่าไม่คัดค้าน พร้อมทั้งให้การรวมมาในคำร้องด้วย ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม

ครั้นวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้นายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความร่วม จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้นายเสรี สุภธีระเข้ามาเป็นคู่ความร่วม

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ขอให้อนุญาตให้นายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเสรีสุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความร่วมนั้นเป็นการเรียกเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ (น่าจะเป็นจำเลย)

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คำร้องของจำเลยให้เรียกนายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความ นายเสรี สุภธีระ ยื่นคำร้องไม่คัดค้านและขอให้ถือคำร้องเป็นคำให้การด้วย ถือว่านายเสรี สุภธีระ ได้ยื่นคำให้การและเข้ามาในคดีแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลย และสั่งยกคำร้อง และคำให้การของนายเสรี สุภธีระ ก็เท่ากับมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ เป็นการสั่งยกคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จึงอุทธรณ์ได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288(3) (น่าจะเป็นมาตรา 228(3)) เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้นายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความร่วมนั้น นายเสรี สุภธีระ ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งนั้นแต่อย่างใด คงอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านแต่เฉพาะจำเลย ศาลฎีกาจึงจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวแก่จำเลยเท่านั้น และเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งไม่อนุญาตให้นายเสรี สุภธีระ เข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีตามคำร้องของจำเลยนั้นไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ และไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความดังจำเลยอ้างในฎีกา แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1)

พิพากษายืน

Share