แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนสามารถแบ่งแยกการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ช่วง คือ การนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไป ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วันตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนพร้อมสำเนาจากผู้ทำแผนเพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้นส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งแล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น ก็ไม่ต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอีก ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ต่อมาผู้ทำแผนและลูกหนี้ขอแก้ไขแผนและในวันประชุมเจ้าหนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เลื่อนไปนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เช่นนี้ การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนมา จึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีก
วิธีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้นพระราชบัญญัติล้มละลายฯหมวด 3/1 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 1ส่วนที่ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าวมาตรา 30 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม20 ประเด็น แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอ ให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน จึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะพิจารณาตัวประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอว่าจะให้ลงมติแยกหรือรวมก็ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงมติคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้รวมกันไปทั้ง 20 ประเด็น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/57 ไม่ได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนคดีทุกคดีก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่า ข้อสาระสำคัญในการที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนนั้นมีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ หากศาลเห็นว่าครบถ้วนแล้วก็ไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไป การที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับพยานเอกสารที่คู่ความได้อ้างมานั้นเพียงพอในการวินิจฉัยที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้วก็ไม่จำต้องไต่สวนพยานอีก คำสั่งงดไต่สวนของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56
ลูกหนี้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนชอบด้วยกฎหมายทุกประการแล้ว การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผนถือว่าเจ้าหนี้ได้ยอมรับข้อกำหนดในเชิงพาณิชย์แล้ว ลูกหนี้ไม่มีสิทธิยกเหตุดังกล่าวมาคัดค้านอีก
ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดไต่สวน และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58
ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การนัดประชุมเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ลูกหนี้อุทธรณ์ว่า การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ ในวันดังกล่าวยังมิได้มีการประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน เมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/44 วรรคหนึ่ง วรรคสาม มาตรา 90/47มาตรา 90/48 และมาตรา 90/49 แล้ว จะเห็นได้ว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนนี้สามารถแบ่งแยกการนัดประชุมเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน กล่าวคือ การนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไป ในการประกาศโฆษณากำหนดนัดประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วันตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่ง นั้น ใช้เฉพาะกับการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับแผนพร้อมสำเนาจากผู้ทำแผนเพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไรเท่านั้น ส่วนในการนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น หากว่าในการนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกได้ดำเนินการโดยชอบตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่ง แล้ว การนัดประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนไปนั้น ก็ไม่ต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอีก คดีนี้ได้ความจากคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 1105 เลขที่ 25 อาคารกรุงเทพประกันภัย ชั้น 11 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆเขตสาทร กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันสยามรัฐ ฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 แล้ว ต่อมาผู้ทำแผนและลูกหนี้ขอแก้ไขแผนและในวันประชุมเจ้าหนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าเป็นการขอแก้ไขแผนในสาระสำคัญ อนุญาตให้เลื่อนไปนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13.00 นาฬิกา เช่นนี้การประชุมเจ้าหนี้ในคราวที่ได้เลื่อนมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน2543 จึงไม่ต้องดำเนินการโฆษณากำหนดการประชุมในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอีกแต่อย่างใด
ที่ลูกหนี้อุทธรณ์ว่า คำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้ (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 27 ตุลาคม2543 ระบุขอแก้ไขแผนไว้โดยชัดแจ้งจำนวน 20 ประเด็น แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อนุญาตให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลงมติเป็นรายประเด็นนั้น เห็นว่า วิธีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะกรณีจึงต้องนำพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 1 ส่วน ที่ 3 ว่าด้วยการประชุมเจ้าหนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 90/2 วรรคสอง ซึ่งในบทบัญญัติส่วนดังกล่าว มาตรา 33 บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน” เมื่อกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นผู้เสนอหัวข้อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและควบคุมการประชุมเจ้าหนี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แม้ว่าคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้จะมีประเด็นต่าง ๆ รวม 20 ประเด็น แต่เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เสนอให้ลงมติเป็นรายประเด็นหรือรวมกัน กรณีจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นประธานในการประชุมที่จะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ในคำขอแก้ไขแผนฉบับดังกล่าวตลอดจนความเกี่ยวพันของประเด็นเหล่านั้นในคำขอนั้นว่าจะให้ลงมติแยกหรือรวมก็ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ลงมติคำขอแก้ไขแผนของลูกหนี้รวมกันไปทั้ง 20 ประเด็น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว
ประการที่สอง ในการพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลจะต้องไต่สวนพยานก่อนหรือไม่ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดวิธีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ในมาตรา 90/57 ว่า “ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับศาลว่าจะต้องดำเนินการไต่สวนคดีทุกคดีก่อนที่จะมีคำสั่งว่าเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้เป็นดุลพินิจของศาลในการที่จะพิจารณาว่า ข้อสาระสำคัญในการที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนนั้น มีอยู่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่นั้นมีอยู่ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่มีเหตุจำต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อให้คดีฟื้นฟูกิจการล่าช้าออกไปแต่อย่างใด เช่นนี้ การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้นั้นก็หมายความว่า ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนตลอดจนพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจง คำคัดค้านต่าง ๆ แล้วเห็นว่ามีสาระสำคัญเพียงพอในการที่สั่งให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้วจึงมีคำสั่งให้งดไต่สวน ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับพยานเอกสารต่าง ๆ ที่คู่ความได้อ้างมานั้นเพียงพอในการวินิจฉัยที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานอีก ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งงดไต่สวนนั้นชอบแล้ว
ตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาตั้งแต่ต้น เมื่อปรากฏว่าในการดำเนินการประชุมเจ้าหนี้นั้น ได้มีการประชุมโดยชอบ เจ้าหนี้ทุกรายที่เข้าประชุมและออกเสียงลงมติได้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและได้จัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จากการดำเนินการฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่า กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีโอกาสที่จะดำเนินการสำเร็จตามแผนได้และได้มีการทำแผนโดยสุจริต อีกทั้งการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และประเทศชาติโดยส่วนรวมที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน