คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้เงิน โดยตกลงกันว่าหากจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยจะชำระหนี้เงินกู้ภายในหนึ่งเดือนและได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวลงวันที่ล่วงหน้าตามสัญญา แม้ต่อมาจำเลยไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่การที่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ตั้งแต่แรก จำเลยย่อมคาดหวังว่าจะได้รับเลือกตั้งแน่นอน หาใช่ออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ไม่เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 การที่จำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเช็ค หายทั้งเล่ม หลังจากออกเช็คพิพาทเพียง 3 วันจำเลย จะอ้างว่าไม่มีเจตนาแจ้งว่าเช็คพิพาทหายหาได้ไม่ เพราะเช็คพิพาทรวมอยู่ในสมุดเช็คดังกล่าวด้วยซึ่งสามัญสำนึกของบุคคลเช่นจำเลยที่มีความรู้และยังสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยย่อมต้องรู้ถึงผลของการกระทำของตนเองดีว่าเป็นการแจ้งความเท็จให้เจ้าพนักงานจดข้อความดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 91 ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3จำคุก 1 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำคุก3 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คด้วย ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อแรกจะได้วินิจฉัยข้อหาความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมีปัญหาว่าเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย ป.ชม.1 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่)จำเลยออกให้พระครูจิตตวิโสธนาจารย์เพื่อชำระหนี้เงินกู้หรือว่าจำเลยออกเช็คพิพาทดังกล่าวให้ไว้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์เพื่อเป็นประกันเงินกู้คู่ความนำสืบรับกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 จำเลยได้กู้ยืมเงินจากพระครูจิตตวิโสธนาจารย์ ได้ทำสัญญากู้ไว้จำนวนเงิน1,300,000 บาท โดยตกลงกันว่าหากจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธรจำเลยจะชำระหนี้เงินกู้ภายใน 1 เดือน และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน 1,300,000 บาทมอบให้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ ซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยออกเช็คพิพาทไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ คดีนี้คู่ความมิได้ส่งเอกสารสัญญากู้เป็นพยาน คงได้ความเพียงว่า หากจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธรจำเลยจะชำระหนี้ภายในกำหนด 1 เดือน และจำเลยได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 1 เดือนคือวันที่ 22 สิงหาคม 2529 ให้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ เห็นว่า จำเลยคาดหวังว่าจำเลยจะได้รับเลือกตั้งแน่นอนและจำเลยออกเช็คพิพาทไว้เพื่อชำระหนี้เงินกู้ตั้งแต่แรกแล้วจึงลงวันที่ล่วงหน้าไว้ตามสัญญา หากจำเลยมีเจตนาออกเช็คเพื่อเป็นประกันเงินกู้ จำเลยก็ทำได้โดยจำเลยไม่จำต้องลงวันที่ในเช็คพิพาทหรืออาจจดแจ้งไว้ว่าออกเช็คดังกล่าวเพื่อเป็นประกัน ฉะนั้น ที่จำเลยอ้างว่าออกเช็คเพื่อเป็นประกันเงินกู้จึงฟังไม่ขึ้น ต่อมาพระครูจิตตวิโสธนาจารย์ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้ค่าก่อสร้าง ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ ผู้เสียหายได้ให้คนของผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปขึ้นเงินกับธนาคาร และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย และได้ความจากนางสาวกรองจิตร ตั้งพูลผลวณิชย์พยานโจทก์ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่า ตามสำนวนบัญชีกระแสรายวันของจำเลย เอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) ในวันที่22 กรกฎาคม 2529 เงินในบัญชีของจำเลยมีเพียง 500 บาท ตลอดมาจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 เงินในบัญชีก็มี 500 บาทเท่าเดิมแสดงว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2529 เงินในบัญชีของจำเลยก็มีอยู่500 บาท จึงมีไม่พอจ่ายสำหรับเช็คพิพาท และการที่จำเลยไปแจ้งความว่าสมุดเช็คหายทั้งเล่ม และได้นำคำแจ้งความตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปอายัดเช็คต่อธนาคารซึ่งรวมทั้งเช็คฉบับพิพาทด้วย แสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยมีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ที่จำเลยอ้างว่าได้ออกเช็คพิพาทและยังได้มอบตราจองของบุคคลอื่นและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของบุคคลอื่นอีก 5 ฉบับ ให้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ ไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ แต่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ พยานโจทก์ก็เบิกความปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับตราจองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจากจำเลย เห็นว่าตราจองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์หากจำเลยจะนำมามอบให้แก่เจ้าหนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ เชื่อว่าพระครูจิตตวโสธนาจารย์ไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวจากจำเลยดังที่จำเลยอ้าง และที่จำเลยอ้างบันทึกเอกสารหมาย ปล.(ชม) 1 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่)ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2530 ซึ่งมีข้อความท้าวความถึงการออกเช็คพิพาทและจำเลยได้นำเอกสารตราจองของผู้อื่นและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของผู้อื่นมามอบให้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ไว้เพื่อค้ำประกันหนี้ เอกสารดังกล่าวนี้ฝ่ายจำเลยขวนขวายจัดทำขึ้นภายหลังที่ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์แล้วก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงจะทำให้เช็คพิพาทที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ กลับกลายเป็นเช็คที่ออกไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ไปได้ และปัญหาต่อไปที่ว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 หรือไม่นั้น ได้ความว่าเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2529จำเลยได้แจ้งต่อร้อยตำรวจตรีหม่อมหลวงพัฒนจักร จักรพันธ์ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยโสธร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ให้จดข้อความลงในสมุดรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจำเลยได้ทำสมุดเช็คของธนาคารกสิกรไทยสาขายโสธรหล่นหายในเขตเทศบาลเมืองยโสธรโดยระบุเลขเช็คไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายป.จ.1 (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) แล้วจำเลยได้นำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารกสิกรไทย สาขายโสธรเพื่อให้ระงับการจ่ายเงิน เห็นว่าหลักฐานที่จำเลยแจ้งเช็คหายคือสมุดเช็คทั้งเล่ม ซึ่งทางธนาคารได้ตรวจสอบเช็คที่ถูกอายัดมีเช็คพิพาทเลขที่ 1126869 รวมอยู่ด้วย ตามเอกสารตรวจสอบเช็คหมายเลข ป.จ.2 (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเช็คพิพาทดังกล่าวจำเลยได้ออกให้ไว้แก่พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ก่อนแจ้งความเช็คหายเพียง 3 วัน ไม่ได้หายไปด้วย จึงเป็นการแจ้งเท็จ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามความจริงตามที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารแนะนำและเขียนให้ เพื่อขอซื้อสมุดเช็คเล่มใหม่จำเลยไม่มีเจตนาจะแจ้งความเป็นหลักฐานเพื่ออายัดเช็คพิพาทและธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินในเช็คฉบับพิพาทว่า”มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ก็ไม่ใช่การกระทำของจำเลยแต่เป็นการกระทำของพนักงานธนาคารนั้น เห็นว่าการที่จำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเช็คหายทั้งเล่มจำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่มีเจตนาแจ้งว่าเช็คพิพาทหาได้ไม่เพราะเช็คพิพาทรวมอยู่ในสมุดเช็คเล่มที่หายดังกล่าวด้วยและจำเลยก็รู้ดีว่าจำเลยเพิ่มออกเช็คพิพาทให้แก่เจ้าหนี้ไปเมื่อ3 วันก่อนแจ้งความดังกล่าว ซึ่งสามัญสำนึกบุคคลเช่นจำเลยที่มีความรู้สึกและยังสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยย่อมต้องรู้ถึงผลของการกระทำที่แจ้งความของจำเลยดีว่าเป็นการแจ้งความเท็จให้พนักงานตำรวจจดข้อความดังกล่าวในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อเป็นหลักฐาน แม้จะนำไปใช้อ้างต่อธนาคารเพื่อจะขอซื้อสมุดเช็คเล่มใหม่ก็ตาม แต่ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่าเป็นการอายัดเช็คที่หายด้วย ซึ่งธนาคารทราบจะไม่จ่ายเงินตามเช็คฉบับที่แจ้งหาย การปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นหน้าที่ของธนาคารการที่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินว่า”มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ก็สืบเนื่องจากการที่จำเลยแจ้งความว่าเช็คหายและอายัดเช็คดังกล่าวต่อธนาคารนั่นเอง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share