คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโดยฟังว่าพนักงานของโจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนฟ้องเกิน 1 ปีการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องผิดต่อกฎหมายเนื่องจากโจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ ตามประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 218ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 32 วรรคสอง อธิบดีจึงเป็นผู้แทนของกรมแต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ ไม่จำต้อง ถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ผิดต่อกฎหมาย และมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นบิดามารดาของนายธีรธร ดิลกสมบัติเป็นผู้ครอบครองดูแลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุนายธีรธรซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถด้วยความเร็วสูงจนเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ต้นหมายเลข 187 ซึ่งปักอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 11-350ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,365 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรจะรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 4เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ตรงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 3 จึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 เป็นว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ แต่เนื่องด้วยศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 และข้อ 5 เห็นควรให้การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามลำดับของศาลพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท ข้อ 4 และข้อ 5แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นได้นั้น พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่านางสาวอัญชลี แสงชูวงศ์ พนักงานของโจทก์ในตำแหน่งนักสถิติมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับงานอุบัติเหตุได้ไปแจ้งความและให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2527 และการที่นายมหินทร ศาสตรี นายช่างโยธาแขวงการทางกรุงเทพ ลงลายมือชื่อในหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 และวันที่ 18 มกราคม 2528 ตามลำดับ ทั้งนี้ โดยทราบภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 จากหัวหน้างานทะเบียนรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตปทุมวันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528แล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 32 วรรคสอง บัญญัติว่า “กรมมีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม” ดังนั้นอธิบดีกรมทางหลวงจึงเป็นผู้แทนของกรมทางหลวงโจทก์แต่เพียงผู้เดียว นางสาวอัญชลี และนายมหินทร เป็นแต่เพียงข้าราชการในสังกัดกรมทางหลวงและอยู่ภายใต้อำนาจปกครองบังคับบัญชาของนายจำลอง ศาลิคุปต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงในขณะเกิดเหตุเท่านั้น บุคคลทั้งสองหาเป็นผู้แทนของกรมหลวงไม่ ทั้งการดำเนินการของบุคคลทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่าได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทางหลวง หรือบุคคลทั้งสองได้รายงานให้อธิบดีพิจารณาดำเนินการแต่อย่างใด จึงถือว่ากรมทางหลวงซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ทราบแล้วมิได้ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่านายนิคม ขจรศรีเดช นิติกร 7 แทนผู้อำนวยการกองนิติการได้ทำบันทึกรายงานถึงรายละเอียดของเหตุคดีนี้ และบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในทางแพ่งให้อธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้ทราบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 และอธิบดีได้ลงลายมือชื่อรับทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.21ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยผิดต่อกฎหมาย และมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้นได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(3)(ก) ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share