คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าและเป็นผู้รับตราส่งรับสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมิได้แจ้งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยทราบและตัวแทนของบริษัทเรือที่ขนส่งมาร่วมสำรวจความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเสียก่อนทั้งที่ปรากฏว่าลังไม้บรรจุสินค้าดังกล่าวแตก ย่อมถือได้ว่าเป็นการรับสินค้าไปในสภาพที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นการรับเอาสินค้าไว้โดยมิได้อิดเอื้อนจำเลยในฐานะผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 623 วรรคแรกซึ่งแม้จะมิใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลที่จะต้องใช้บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 วรรคสอง แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำมาตรา 623 วรรคแรกดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 ได้กำหนดไว้เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของห้างหุ้นส่วนอ. ด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด แอลสปีดสั่งซื้อสินค้าประเภทอะไหล่ และส่วนประกอบของรถยนต์ยี่ห้อฮินตรา จากบริษัทมาฮินตราแอนด์มาฮินตรา จำกัดประเทศอินเดีย รวม 32 ลัง ผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์แนชั่นแนลไลน์พี.ที.อี. จำกัดให้เป็นผู้ขนส่งสินค้ามาทางเรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์พี.ที.อี. จำกัด มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งร่วมอีกทอดหนึ่ง เมื่อเรือเข้าเทียบท่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากขนถ่ายสินค้าลงจากเรือแล้วได้มีการสำรวจความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมา ปรากฏว่าลังบรรจุสินค้าดังกล่าวจำนวน 6 ลัง แตกออกและเปียกน้ำ ทำให้สินค้าได้รับความเสียหายเป็นเงิน 91,620 บาทห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลส์ปีดได้เรียกร้องให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลส์ปีดจึงได้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยและบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์พี.ที.อี จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,620 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนในการเดินเรือพาณิชย์ในและนอกประเทศและได้รับเงินตอบแทนเป็นค่าตัวแทนจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น จำเลยไม่ได้ร่วมกันกับบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์พี.ที.อี จำกัด เพื่อรับขนส่งสินค้าโดยจำเลยรับขนส่งเป็นทอดสุดท้าย สินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีคไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้าขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันไว้ได้รับความเสียหายในขณะใดเสียก่อน ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงและนำสืบรับฟังได้ว่า เมื่อสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2523 แล้วปรากฏว่าลังไม้บรรจุสินค้าแตก 6 ลัง แต่ไม่มีการตรวจสอบความเสียหายโดยจะรอไว้ตรวจสอบต่อหน้าตัวแทนผู้รับสินค้าและตัวแทนของเรือที่ขนส่ง สินค้าทั้ง 6 ลังดังกล่าว จึงถูกนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าชำรุดเพื่อรอการสำรวจ ต่อมาเมื่อวันที่14-15 เมษายน 2523 ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดได้ขอรับสินค้าทั้งหมดไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วนำสินค้าดังกล่าวไปยังโรงงานประกอบบางชัน โดยมิได้มีการสำรวจว่าสินค้าที่บรรจุในลังไม้ที่แตก 6 ลัง นั้น เสียหายอย่างไรบ้างหรือไม่ ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2523 โจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทยูไนเต็ดเซอร์เวย์เยอร์ส แอนด์ แอดจัสเตอร์ส จำกัดสำรวจสินค้าดังกล่าว ปรากฏว่าสินค้าเสียหายคิดเป็นเงิน 91,620 บาท เห็นว่าขณะที่สินค้าที่โจทก์อ้างว่าชำรุดมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ปรากฏเพียงว่าลังไม้บรรจุสินค้าแตก 6 ลังซึ่งต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลส์ปีดผู้รับใบตราส่งก็ได้ขอรับสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยมิได้มีการขอให้ทำการสำรวจสินค้าต่อเจ้าหน้าที่การท่าเรือหรือตัวแทนของเรือที่ขนส่งแต่อย่างไร ซึ่งเมื่อปรากฏว่าลังไม้บรรจุสินค้าแตกเช่นนี้ ก็น่าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดผู้รับใบตราส่งจะได้ทำการสำรวจในทันทีทันใดว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นเพียงใดหรือไม่ แต่ก็หาได้กระทำไม่จนถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2523ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดได้รับสินค้าดังกล่าวจากการท่าเรือถึง 2 เดือนเศษ จึงได้มีการสำรวจซึ่งก็มิได้กระทำต่อหน้าตัวแทนเรือที่ขนส่งแต่อย่างใด อีกทั้งยังปรากฏจากรายงานการสำรวจตามเอกสารหมาย จ.9 ว่า หีบห่อดังกล่าวได้มีการเปิดไว้ก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เดือนเดียวกัน คือก่อนทำการสำรวจ 12 วัน โดยสินค้าดังกล่าวได้วางไว้ที่ลานเก็บของและบางชิ้นก็ได้ผ่านการซ่อมแซมโดยโรงงานประกอบบางชันแล้ว ดังนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ขนส่งมาทางเรือ อนึ่ง การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดรับสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยมิได้แจ้งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยและตัวแทนของบริษัทเรือที่ขนส่งมาร่วมทำการสำรวจความเสียหายเสียก่อน ทั้งที่ปรากฏว่าลังไม้แตกเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการรับสินค้าไปในสภาพที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นการรับเอาสินค้าโดยมิได้อิดเอื้อน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 วรรคแรก ซึ่งแม้จะมิใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลที่จะต้องใช้บังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 วรรคสอง แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำมาตรา 623 วรรคแรกดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 ได้กำหนดไว้ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลสปีด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว แล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share