คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 นัดหยุดงานโดยไม่มีข้อเรียกร้องไม่มีข้อพิพาทแรงงาน เป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ตั้งข้อหาและมิได้อาศัยข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 99 แต่ประการใดซึ่งมาตรานี้เป็นบทยกเว้นความรับผิดมิใช่บทบังคับการกระทำ จึงไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องบรรยายฟ้องกล่าวแก้จำเลยเป็นการล่วงหน้าไว้ก่อน หากแต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะยกบทมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะต้องด้วยข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งในสี่ประการนั้นจำเลยจะยกมาตรา 99 ขึ้นปรับคดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์รวม 10 ข้อ ตกลงกันได้ 3 ข้อ คงเหลือข้อเรียกร้องที่ตกลงกันไม่ได้อีก 7 ข้อ ต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีอยู่ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 22 วรรคสาม การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธินัดหยุดงานในวันที่ 8 แล้วกลับเข้าทำงานในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน โดยลำพังตนมิได้ขอกลับเข้าทำงานต่อฝ่ายบริหารของโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการสละข้อเรียกร้อง และจะถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เป็นอันระงับหรือสิ้นสุดลงด้วยการนัดหยุดงานและกลับเข้าทำงานใหม่ไม่ได้ เพราะไม่มีบทมาตราใดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้เช่นนั้น สิทธินัดหยุดงานของจำเลยที่1 จึงไม่สิ้นไป
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หามีบทมาตราใดบังคับว่าเมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างพึงใช้สิทธินัดหยุดงานได้แต่เพียงครั้งเดียวไม่ การแปลกฎหมายว่าลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงานได้ครั้งเดียวทั้งที่ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการแปลที่จำกัดสิทธิโดยชอบธรรมของลูกจ้างการนัดหยุดงานเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายของลูกจ้างที่จะให้ได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อเรียกร้องของตน มิใช่ฝ่ายนายจ้างเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายที่กิจการต้องหยุดชะงักงัน ฝ่ายลูกจ้างเองก็ต้องได้รับความเสียหายดุจกันที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้น ถ้าลูกจ้างสามารถใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งเดียวเป็นเวลายาวนานทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมากได้โดยชอบ การนัดหยุดงานเป็นช่วง ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นการกระตุ้นเตือนให้นายจ้างรู้สำนึกถึงความเดือดร้อนทีละน้อยแล้วจะทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้มีการหันหน้าเข้าเจรจาให้ได้มาซึ่งข้อตกลงร่วมกันจึงกระทำได้ การใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งหลัง ๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นประธานและรองประธานบริหารงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่โจทก์ขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ รวม ๑๐ ข้อ ตัวแทนของโจทก์กับตัวแทนของจำเลยที่ ๑ เจรจาตกลงกันได้ ๒ ข้อ และพนักงานประนอมข้อพิพาทดำเนินการไกล่เกลี่ยสามารถตกลงกันได้อีก ๑ ข้อ ข้อเรียกร้องที่เหลือเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งนัดหยุดงานต่อโจทก์ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ ๑ และคนงานที่หยุดงานขอกลับเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ แล้ว จำเลยและคนงานของโจทก์หามีสิทธินัดหยุดงานอีกไม่ แต่จำเลยทั้งสามได้ชักชวนให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์หยุดงานในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ และวันที่ ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ อีกโดยแจ้งเป็นหนังสือต่อโจทก์ และได้ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ไม่ยอมเข้าร่วมหยุดงานเข้าทำงาน โจทก์ไม่สามารถผลิตผลงานได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๓๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย และห้ามจำเลยทั้งสามยุยง ชักชวน ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่โจทก์ในวันที่ ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ และขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวในครั้งต่อ ๆ ไป
จำเลยทั้งสามให้การว่า การยื่นข้อเรียกร้องมีข้อตกลงว่า แม้จะตกลงกันได้ในบางข้อ ข้อที่ยังตกลงไม่ได้จะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดต่อไป ต้องถือว่าข้อตกลงทั้งหมดไม่มีการตกลงกัน ข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ยังมีอยู่ จำเลยสามารถใช้สิทธิหยุดงานได้ และสามารถหยุดงานเป็นช่วง ๆ จนกว่าจะมีการตกลงกันในข้อพิพาทแรงงานนั้น จำเลยไม่ได้สละข้อเรียกร้องที่กลับเข้าทำงานในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ นั้นเพราะครบกำหนดระยะเวลานัดหยุดงานตามหนังสือที่แจ้งต่อโจทก์ จำเลยไม่เคยขอกลับเข้าทำงาน การใช้สิทธินัดหยุดงานของจำเลยทุกครั้งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่เคยยุยง ขัดขวาง มิให้ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์หยุดงานเข้าทำงาน การหยุดงานเป็นความสมัครใจในการใช้สิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกล่าววินิจฉัยว่า การนัดหยุดงานจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวติดต่อกันจนกว่าจะพอใจ เมื่อยุติการนัดหยุดงานแล้ว ไม่มีสิทธินัดหยุดงานอีก จำเลยจัดให้มีการหยุดงานครั้งที่ ๒ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำแทนจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๒๕,๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ นัดหยุดงานทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อเรียกร้องไม่มีข้อพิพาทแรงงาน จึงเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์มิได้ตั้งข้อหาและมิได้อาศัยข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๙ ซึ่งอยู่ในหมวด ๗ อันว่าด้วยสหภาพแรงงานประการใด มาตรา ๙๙ นี้เป็นบทยกเว้นความรับผิด มิใช่เป็นบทบังคับการกระทำ เพราะฉะนั้นจึงมิใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องบรรยายฟ้องกล่าวแก้จำเลยเป็นการล่วงหน้าไว้ก่อน หากแต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะยกบทมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะต้องด้วยข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งในสี่ประการนั้น ด้วยเหตุนี้ ที่จำเลยที่ ๑ ยกมาตรา ๙๙ ขึ้นปรับแก่คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการนำกฎหมายมาปรับแก่คดีที่ไม่ตรงตามรูปเรื่อง โจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว
จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับโจทก์รวม ๑๐ ข้อ ได้มีการตกลงกันเองในระหว่างการเจรจาของโจทก์และจำเลยที่ ๑ รวม ๒ ข้อ และพนักงานประนอมข้อพิพาทไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันได้อีก ๑ ข้อ คงเหลือข้อเรียกร้องของจำเลยที่ ๑ ที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก ๗ ข้อ จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ยังมีอยู่ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธินัดหยุดงานในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ แล้วกลับเข้าทำงานในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ โดยลำพังตน มิได้ขอกลับเข้าทำงานกับฝ่ายบริหารของโจทก์หาถือว่าเป็นการสละข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.๓ ไม่ ดังจะเห็นได้จากรายงานการประชุม ฯ เอกสารหมาย ล.๕ วาระที่ ๒ ข้อ ๒ ว่าจะหยุดงานเป็นครั้ง ๆ ไปเพื่อเปิดโอกาสให้โจทก์หาข้อยุติร่วมกัน หากหยุดงานครั้งที่ ๑ ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ก็ให้หยุดงานในครั้งต่อ ๆ ไปจนกว่าจะหาข้อยุติที่ดีได้ และจะถือว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เป็นอันระงับหรือเป็นอันสิ้นสุดลงด้วยการนัดหยุดงานและกลับเข้าทำงานใหม่ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีบทมาตราใดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติไว้ตามที่โจทก์ฟ้อง เหตุนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ยังคงมีอยู่ ตามความในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ วรรคสาม เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ยังคงมีอยู่ สิทธินัดหยุดงานของจำเลยที่ ๑ จึงไม่สิ้นไป
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หามีบทมาตราใดบังคับว่าเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างพึงใช้สิทธินัดหยุดงานได้แต่เพียงครั้งเดียวไม่ การนัดหยุดงานเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายของลูกจ้างที่จะให้ได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อเรียกร้องของตน มิใช่ฝ่ายนายจ้างเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายที่กิจการต้องหยุดชุงักงัน แม้ฝ่ายลูกจ้างเองก็ต้องได้รับความเสียหายดุจกับที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ถ้าลูกจ้างสามารถใช้สิทธินัดหยุดงานได้ครั้งเดียวเป็นเวลายาวนานทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมากอาจกระทำได้โดยชอบ ไฉนการหยุดงานเป็นช่วง ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นการกระตุ้นเตือนให้นายจ้างรู้สำนึกถึงความเดือดร้อนทีละน้อย แล้วจะทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้มีการหันหน้าเข้าเจรจาให้ได้มาซึ่งข้อตกลงร่วมกันจะกระทำมิได้เล่าการแปลกฎหมายว่าลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงานได้ครั้งเดียวทั้งที่ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการแปลที่จำกัดสิทธิโดยขอบธรรมของลูกจ้าง ซึ่งจะยังผลให้เป็นการหยุดงานที่ผิดกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างมีความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓๙ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าการใช้สิทธินัดหยุดงานของจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เป็นการใช้สิทธิชอบด้วยความเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ด้วยเหตุนี้การใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งนี้จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์อันจำเลยที่ ๑ จะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share