แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีก 146,400 บาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแล้วไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยจึงไม่เกิน 200,000 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองเพิ่มเงินค่าทดแทนโดยปราศจากพยานหลักฐานในเรื่องราคาที่ดินของโจทก์ จึงไม่ถูกต้องเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯวินิจฉัยเพิ่มให้เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
กรมทางหลวงจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ก่อสร้างและดูแลทางหลวงแผ่นดิน การสร้างทางหลวงแผ่นดินเป็นงานราชการภายใต้การบริหารของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้สั่งการและรับผิดชอบ โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ดังนั้น การใดที่อธิบดีกรมทางหลวงกระทำไปในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนย่อมเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และการดำเนินการเพื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์อยู่ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ยังไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนไม่เต็มตามที่โจทก์อุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกได้
คำว่า วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม หมายถึงวันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนให้แก่กันในครั้งแรกซึ่งผ่านไปก่อนการฟ้องคดีแล้ว มิใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อโจทก์กับฝ่ายจำเลยไม่ได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538 แต่โจทก์ไม่ไปรับ ฝ่ายจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสองประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายจำเลยต้องนำเงินไปวางในวันถัดจากวันที่24 กุมภาพันธ์ 2538 คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นกระทรวง จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1214 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 183 ตารางวาต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ – คลองพรวน ตอนอำเภอชะอำ – อำเภอปราณบุรี พ.ศ. 2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2536 โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาและให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน จากการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลง จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 73,200 บาท คิดเป็นตารางวาละ 400 บาท โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่จำเลยที่ 2 แจ้งมานั้นต่ำกว่าความเป็นจริงไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2538 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินต่อจากจำเลยที่ 1 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์โดยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้เพิ่มขึ้นอีกเป็นตารางวาละ 600 บาท แต่ก็ยังต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนเพชรเกษมและอยู่ในย่านพาณิชยกรรม ขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับนั้นที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 3,200 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 183 ตารางวา คิดเป็นเงิน 585,600 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินแล้วจำนวน 109,800 บาท จำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีก 475,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,700 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 536,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินจากต้นเงินดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้มีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 400 บาท และต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ พิจารณาเพิ่มให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 200 บาท เท่ากับโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 600 บาท ซึ่งเหมาะสมเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัดในการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 146,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงิน 146,400 บาท นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1214 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 183 ตารางวา ซึ่งทั้งแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ – คลองพรวน ตอนอำเภอชะอำ -อำเภอปราณบุรี พ.ศ. 2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 400 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่งเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 600 บาท โจทก์ได้รับเงินที่เพิ่มให้ไปแล้ว แต่เห็นว่ายังต่ำไปจึงฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้อีกเป็นตารางวาละ 1,400 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ กำหนดอีกตารางวาละ 800 บาท เนื้อที่ 183 ตารางวา เป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 146,400 บาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแล้วไม่เกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ กำหนดไว้แล้ว ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่เกิน 200,000 บาท และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยปราศจากพยานหลักฐานในเรื่องราคาที่ดินของโจทก์ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จึงไม่ถูกต้อง เงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 600 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสอง
มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นหน่วยงานของรัฐแต่ก็ไม่ใช่ผู้ทำการเวนคืนที่ดินของโจทก์และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1มีอำนาจหน้าที่ก่อสร้างและดูแลทางหลวงแผ่นดินตามงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร การสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ – คลองพรวน ตอนอำเภอชะอำ – อำเภอปราณบุรี ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่เวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ – คลองพรวน ตอนอำเภอชะอำ – อำเภอปราณบุรี พ.ศ. 2536 เป็นงานราชการภายใต้การบริหารของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้สั่งการและรับผิดชอบ โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ดังนั้น การใดที่อธิบดีกรมทางหลวงกระทำไปในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนย่อมหมายถึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และการดำเนินการเพื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์อยู่ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อโจทก์ยังไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนไม่เต็มตามที่โจทก์อุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2538 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่… ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นในส่วนที่ศาลวินิจฉัยให้เพิ่มดังกล่าวต้องหมายถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น เห็นว่า ที่กฎหมายใช้คำว่า วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนในมาตรา 26 วรรคสาม นั้นหมายถึงวันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนให้แก่กันในครั้งแรกซึ่งผ่านมาแล้วมิใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา กรณีของโจทก์นี้ปรากฏว่า โจทก์กับฝ่ายจำเลยไม่ได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538 ตามเอกสารหมาย ล.6 แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาที่จำเลยที่ 2 กำหนด ฝ่ายจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลัน ตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายจำเลยต้องนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปวางในวันถัดจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2538 นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองอยู่แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน