คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยโอนโทรศัพท์ภายหลังที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์บุคคลทั่วไปย่อมทราบดีว่าสามารถจะโอนขายเป็นเงินได้ ตามพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนโทรศัพท์ก็เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว จึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ4 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 4 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2ที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรี จำนวนเงิน 307,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามสำนวนคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรีลงวันที่ 9 มีนาคม2533 เอกสารหมาย จ.1 และคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าบ้านให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับโอนให้โทรศัพท์หมายเลข4661212 ให้นางปิยวรรณ ช้อนแก้ว สำหรับการโอนสิทธิการเช่าบ้านยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 4661212 ให้นางปิยวรรณ มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ โดยโจทก์นำสืบว่าได้สอบถามองค์การโทรศัพท์ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ให้นางปิยวรรณ ปรากฏตามแบบขอโอนและรับโอนสิทธิการเช่าสองฝ่ายเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งตามหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 22 เมษายน 2534แสดงว่าจำเลยที่ 1 โอนโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ให้นางปิยวรรณ ในวันที่ 22 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์นำสืบว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนโทรศัพท์ให้นางปิยวรรณ ทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ได้จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใด คงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 โอนโทรศัพท์ให้นางปิยวรรณเพราะไม่ค่อยได้ใช้ประกอบกับจำเลยที่ 1 จะไปค้าขายที่ต่างจังหวัดด้วยซึ่งการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์บุคคลทั่วไปย่อมทราบดีว่าสามารถจะโอนขายเป็นเงินได้ ดังนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ส่อแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนโทรศัพท์ให้นางปิยวรรณเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1จึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นหญิงมีอายุมากแล้ว และประกอบอาชีพค้าขาย ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้โดยให้ปรับจำเลยที่ 1 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 ด้วย 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share