คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 8เป็นบทกำหนดโทษที่แก้ไขใหม่ของมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 8เท่ากับลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 76(ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งความผิดตามมาตรา 76 ดังกล่าวมีหลายวรรคแต่ละวรรคกำหนดโทษไว้แตกต่างกัน การที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุว่าจำเลยมีความผิดวรรคใดย่อมไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์แก้เสียให้ถูกต้องได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 8 กับริบของกลางด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 8ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ที่แก้ไขแล้ว) มาตรา 26 วรรคแรกและมาตรา 76 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ที่แก้ไขแล้ว) มาตรา26 วรรคแรก และมาตรา 76 วรรคแรก โดยโจทก์ไม่ได้ขอไว้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เห็นว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 8 ไว้แล้ว สำหรับ มาตรา 8 ดังกล่าวนี้ เป็นบทกำหนดโทษที่แก้ไขใหม่ของมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ศาลจำต้องระบุบทมาตราที่ยกขึ้นปรับไว้ในคำพิพากษาตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(7)ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 8 เท่ากับลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โ?ษ พ.ศ. 2522 มาตรา 76 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งความผิดตามมาตรา 76 ดังกล่าวนี้มีหลายวรรค แต่ละวรรคกำหนดโทษไว้แตกต่างกันการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุว่าจำเลยมีความผิดวรรคใดย่อมไม่ถูกต้องที่ศาลอุทธรณ์แก้เสียให้ถูกต้องชอบแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด และที่ศาลอุทธรณ์ระบุอ้างมาตรา 26 วรรคแรก ก็เป็นการกล่าวถึงบทความผิด ซึ่งมาตรา 16 ดังกล่าวนี้มีหลายวรรค แต่ละวรรคมีองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกัน ศาลอุทธรณ์ระบุมาตรา 26 วรรคแรกถูกต้องแล้ว ไม่เป็นการเกินคำขอ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share