คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุคคลที่จะบอกล้างโมฆียะซึ่งผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้กระทำลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา137เดิมคือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นคำว่าทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถหรือผู้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้ถึงแก่ความตายลงดังนั้นในขณะที่ต.ผู้ถูกกลฉ้อฉลยังมีชีวิตอยู่จำเลยซึ่งเป็นเพียงผู้สืบสันดานของต.เท่านั้นจึงยังไม่เป็นทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นจึงไม่มีอำนาจบอกล้างนิติกรรมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 412โดยนางตามน ภักดี มารดาของโจทก์ยกให้เมื่อวันที่11 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 54365 พร้อมบ้านเลขที่ 292/1 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินโฉนดเลขที่ 24121 พร้อมบ้านเลขที่ 292/2ที่ดินของโจทก์กับจำเลยทั้งสองติดต่อกัน โจทก์มีที่ดินอยู่ทางทิศเหนือของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้สร้างห้องน้ำของบ้านเลขที่ 292/1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตเป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ตารางวา ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2529จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ประมาณ 30 ตารางวา และต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2529ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้สร้างห้องครัวของบ้านเลขที่ 292/2 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตประมาณ5 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ และให้จัดทำที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิมภายในกำหนดเวลา 10 วัน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกรื้อถอนสิ่งรุกล้ำและทำที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิม โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 412 เป็นกรรมสิทธิ์ของนางตามน ภักดี มารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1ปี 2522 นางตามนทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 412และ 708 ให้แก่บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กั้นรั้วบ้านตามแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 412 และครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า10 ปี จำเลยทั้งสองและนางตามนอยู่บ้านเดียวกันมาโดยตลอดในที่ดินโฉนดเลขที่ 412 และ 708 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2528นางตามนล้มป่วยด้วยโรคชรา ไม่รู้ผิดชอบ จำเลยที่ 2รื้อถอนรั้วเดิมทำรั้วใหม่ตามแนวรั้วเดิมโดยสุจริตและสร้างหลังใหม่ในแนวรั้วเดิม จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมบ้านหลังเก่าในแนวเดิมโจทก์มาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 412 เป็นของโจทก์จำเลยทั้งสองจึงทราบว่าเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2528 โจทก์และสามีได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 412 และ 708 พร้อมพานางตามนที่วิกลจริตสมองพิการฉ้อฉลหลอกเจ้าพนักงานที่ดินพิมพ์ลายนิ้วมือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์นิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์จึงตกเป็นโมฆียะ ต่อมาโจทก์ขับไล่จำเลยทั้งสองและนางตามนออกจากบ้าน และนำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียทายาทโดยธรรมจำเลยที่ 2 มีส่วนได้เสียทายาทตามพินัยกรรมที่จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 422 และ 708 ขอบอกล้างนิติกรรมโมฆียะให้ตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้นิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 412 ตกเป็นโมฆะ ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่นางตามน หากโจทก์ไม่ดำเนินการภายใน 7 วัน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางตามนยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถจำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรม จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่412 เลขที่ดิน 18 ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างนางตามน ภักดี กับนางลำเจียก กระแสชัยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่นางตามน ภักดี ภายใน 7 วันนับแต่คดีถึงที่สุดหากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วคอนกรีต ห้องน้ำเพิ่มเติมของบ้านเลขที่ 292/1 และห้องครัวของบ้านเลขที่ 292/2 ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไป และทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าขณะที่นางตามนทำการโอนที่ดินให้โจทก์นั้น นางตามนเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถกระทำการด้วยตนเองได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สืบสันดานและผู้มีส่วนได้เสียและทายาททางพินัยกรรม ได้ทราบถึงการกระทำอันเป็นโมฆียะจะใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมนั้นได้หรือไม่ เห็นว่าบุคคลที่จะบอกล้างโมฆียะซึ่งผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้กระทำลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 เดิมคือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้พิทักษ์ หรือทายาทของบุคคลเช่นว่านั้นคำว่าทายาทของบุคคลเช่นว่านั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้ถึงแก่ความตายลง ดังนั้นในขณะที่นางตามนมีชีวิตอยู่ จำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น ยังไม่เป็นทายาทของบุคคลเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 137 เดิม ดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง”
พิพากษายืน

Share