คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2529 จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ อ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังพิมพ์ไม่เสร็จประกอบกับในวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม และวันจันทร์ที่ 2มิถุนายน 2529 ทนายจำเลยต้องเดินทางไปว่าความต่างจังหวัดไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเวลา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยน่าจะติดต่อขอรับสำเนาคำพิพากษาและเอกสารอื่นได้ก่อนหรืออย่างช้าในวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 ซึ่งระยะเวลาที่เหลืออยู่หากจำเลยขวนขวายจะทำคำอุทธรณ์มายื่นภายในกำหนดก็สามารถกระทำได้ ดังนี้ กรณีของจำเลยจึงไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษไม่มีเหตุที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสามในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตามลำดับ แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองสำนวนชนะคดี จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่29 พฤษภาคม 2529 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอ้างว่า ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่2 พฤษภาคม 2529 และในวันที่ 12 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 2ขอถ่ายคำพิพากษาและคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมดเจ้าหน้าที่ศาลกำหนดให้มารับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 15 พฤษภาคม2529 แต่จนกระทั่งในวันยื่นคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับเอกสาร จึงยังไม่ทราบผลและรายละเอียดของคำพิพากษาและเนื่องจากคดีจะครบกำหนดอุทธรณ์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2529 ประกอบกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 และวันที่ 2 มิถุนายน 2529 ทนายจำเลยที่ 2ติดว่าความที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดและศาลจังหวัดพิษณุโลกทนายจำเลยที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดเวลา จึงขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 14 วันตามคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่29 พฤษภาคม 2529 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังพิมพ์ไม่เสร็จนั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆทั้งขัดกับรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งรายงานต่อศาลในวันเดียวกันนั้นว่า ได้รับรองสำเนาภาพภ่ายคำพิพากษาให้กับทนายโจทก์ไปแล้วซึ่งแสดงว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 นั้น คำพิพากษาคดีนี้ได้พิมพ์เสร็จเรียบร้อยโดยฝ่ายโจทก์สามารถขอคัดสำเนาภาพถ่ายไปได้ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้ ดังนั้น หากจำเลยที่ 2ได้ยื่นคำแถลงขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำเบิกความพยานโจทก์จำเลยต่อศาลตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2529 จริง จำเลยที่ 2 ก็น่าจะติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวจากศาลได้ก่อนหรืออย่างช้าในวันที่29 พฤษภาคม 2529 เช่นเดียวกับฝ่ายโจทก์ ซึ่งระยะเวลาที่เหลืออยู่หากจำเลยที่ 2 ขวนขวายที่จะทำคำอุทธรณ์มายื่นต่อศาลภายในกำหนดก็สามารถจะทำได้ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคมและวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2529 ทนายจำเลยที่ 2 ต้องเดินทางไปว่าความต่างจังหวัดไม่สามารถจัดทำคำอุทธรณ์ได้ทันนั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวหาใช่พฤติการณ์พิเศษแต่อย่างใดไม่ กรณียังไม่มีเหตุที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share