คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานตรวจแรงงานมิได้อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหากแต่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย คำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นเพียงคำชี้แจงของผู้ไกล่เกลี่ยให้นายจ้างทราบ เพื่อให้มีการประนีประนอมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหากนายจ้างเห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ คำเตือนนั้นหามีผลบังคับไม่การที่พนักงานตรวจแรงงานออกคำเตือนดังกล่าวไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งของนายจ้างนายจ้างไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือน (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1444/2519)
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
นอกจากค่าจ้างเป็นรายเดือนแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับเงินค่านายหน้าอีกร้อยละ 1.75 จากจำนวนเงินที่นายจ้างได้รับชำระจากสินค้าของนายจ้างที่ได้ขายไปในเขตควบคุมของลูกจ้าง เงินค่านายหน้าดังกล่าวเป็นค่าจ้างตาม ข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่16 เมษายน 2515 นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
เงื่อนไขและระเบียบของนายจ้างที่ให้งดจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวที่ยังไม่ได้จ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นอธิบดี และจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 4 ฐานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 4 ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1ว่าโจทก์ไม่จ่ายเงินค่านายหน้าในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 4 ทำงานให้โจทก์จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 พิจารณาแล้วออกข้อกำหนดบังคับให้โจทก์จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งตามระเบียบของโจทก์โจทก์ไม่ต้องจ่าย โดยการขู่บังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3โจทก์จำต้องจ่ายเงินค่านายหน้า 60,847.25 บาทให้แก่จำเลย ขอให้เพิกถอนข้อกำหนดและให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า สาเหตุแห่งการเลิกจ้างมิใช่ดังโจทก์อ้าง นอกจากค่าจ้างเป็นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงแล้ว โจทก์จ่ายเงินค่านายหน้าหรือค่าผลงานให้จำเลยที่ 4 อีกเดือนละครั้ง โดยคำนวณจากเงินค่าขายสินค้าที่เก็บได้จากลูกค้าในเขตที่จำเลยที่ 4 ประจำอยู่ในอัตราร้อยละ 1.75 เมื่อจำเลยที่ 4 ถูกปลดออกจากงานแล้ว โจทก์ไม่จ่ายเงินค่านายหน้าที่ยังค้างซึ่งเป็นค่าจ้าง จำเลยที่ 3 จึงออกคำเตือนให้จ่าย ระเบียบของโจทก์ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 แล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 พนักงานตรวจแรงงานมิได้อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากแต่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเท่านั้น คำเตือนของจำเลยที่ 3 เป็นเพียงคำชี้แจงของพนักงานตรวจแรงงานผู้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์ในฐานะนายจ้างทราบว่า โจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนประกาศอย่างไรเพื่อให้มีการประนีประนอมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากโจทก์ในฐานะนายจ้างเห็นว่าคำเตือนไม่ถูกต้อง จะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ คำเตือนนั้นหามีผลบังคับในกฎหมายแต่ประการใดไม่การที่จำเลยที่ 3 พนักงานแรงงานออกคำเตือนดังกล่าว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งของโจทก์ ดังนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (ขอให้เพิกถอนคำเตือน) โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1444/2519 ระหว่างบริษัทซัมมิทโอโตซีทอินดัสตรี จำกัด โจทก์ กระทรวงมหาดไทยกับพวกจำเลย อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ค่าจ้างหมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรเห็นว่า เงินค่านายหน้าร้อยละ 1.75 ที่จำเลยที่ 4 มีสิทธิได้รับนั้นเป็นค่าจ้างซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 4 เงื่อนไขและระเบียบปฏิบัติของพนักงานบริษัทจำเลยซึ่งออกปฏิบัติหน้าที่ประจำเขตเอกสารหมาย จ.2 ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 29 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง ถ้าโจทก์ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดได้รับโทษทางอาญา ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 8 เห็นได้ว่าข้อกำหนดงดจ่ายค่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์อ้างนั้นขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เมื่อเงินที่โจทก์ได้ชำระไปตามคำเตือนของจำเลยที่ 3 เป็นค่าจ้างที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 4 ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน

พิพากษายืน

Share