แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแทน โดย ส.กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท เป็นผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามภาพถ่ายท้ายฟ้อง ซึ่งไม่ได้ประทับตราบริษัทก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ ส. ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้สัตยาบันในการที่ บ. ฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์ พร้อมทั้งขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจอันมีตราของบริษัทประทับถูกต้องมาด้วย โดยชี้แจงประกอบว่าภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องได้เอาฉบับที่ไม่มีตราประทับส่งมาโดยความเข้าใจผิดของ บ. การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในทางแพ่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็คงให้ถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง การที่ ส. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่ บ. ฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์พร้อมทั้งขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจอันมีตราของบริษัทประทับถูกต้องและชี้แจงประกอบด้วย ย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด เมื่อพิจารณามาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยแล้ว ศาลชอบที่จะพึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวนี้ได้ บ. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1780/2493)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดยนายบุญมีวิริยานุภาพ เป็นผู้จัดการบริษัทประจำจังหวัดนครราชสีมา และเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทและภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจทั่วไปท้ายฟ้อง เนื่องจากนายตะลูกจ้างคนยามของบริษัทโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองวินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทน ๓๐,๖๐๐ บาท ให้นางน้อยภริยาของนายตะซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน
จำเลยต่อสู้ว่า นายบุญมีไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทให้ฟ้องคดี นายบุญมีไม่มีอำนาจฟ้องแทนบริษัทโจทก์ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หลังวันชี้สองสถาน ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ นายสมศักดิ์ พันธุมะพานิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สัตยาบันในการที่นายบุญมีฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์พร้อมทั้งขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจทั่วไปอันมีตราของบริษัทประทับถูกต้องมาด้วยโดยชี้แจงประกอบว่า ภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องได้เอาฉบับที่ไม่มีตราประทับส่งมาโดยความเข้าใจผิดของนายบุญมี
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า นายสมศักดิ์กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์จะให้สัตยาบันในภายหลังไม่ได้ เพราะฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ให้ยกคำร้อง และเห็นควรชี้ขาดอำนาจฟ้องให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ใบมอบอำนาจท้ายฟ้องที่ยื่นพร้อมฟ้องไม่ได้ประทับตราบริษัทโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทโจทก์ นายบุญมีไม่มีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาไม่ได้ แม้โจทก์จะได้รับรองให้สัตยาบันหรือส่งใบมอบอำนาจอันถูกต้องภายหลัง ก็ไม่ทำให้ฟ้องกลับคืนดีได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในทางแพ่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็คงให้ถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง การที่นายสมศักดิ์ พันธุมะพานิชย์กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่นายบุญมีวิริยานุภาพ ฟ้องคดีแทนโจทก์พร้อมทั้งขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจอันมีตราของบริษัทประทับถูกต้องมาด้วย โดยชี้แจงประกอบว่า ภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องได้เอาฉบับที่ไม่มีตราประทับส่งมาโดยความเข้าใจผิดของนายบุญมีเช่นนี้เท่ากับเป็นการยืนยันถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ให้แน่นอนชัดเจนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้การมอบอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นแล้ว เท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด และเมื่อพิจารณาดูมาตรา ๔๗แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าศาลชอบที่จะพึงรับฟังใบมอบอำนาจดังกล่าวนี้ได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๐/๒๔๙๓ ระหว่างคณะกรรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฯลฯผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง โจทก์ นางกิมไล้ มีชูขันธ์ จำเลยที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้รับคำร้องของโจทก์และต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจไว้เป็นหลักฐานและเห็นว่านายบุญมีมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจซึ่งระบุให้อำนาจฟ้องลูกหนี้หรือผู้กระทำการละเมิดของบริษัทโจทก์ได้ จึงชอบแล้ว ทั้งตามที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสียใหม่ด้วยนั้นศาลฎีกาก็เห็นด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน