แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์รับซื้อฝากบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ไว้จาก ฉ. มีกำหนด1 ปี โดยมีข้อสัญญาด้วยว่า ถ้า ฉ.ไม่ไถ่บ้านคืนภายใน1ปี ฉ. ยอมโอนสิทธิการเช่าที่ธรณีสงฆ์ให้โจทก์ ครั้นครบ 1 ปี บ้านหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ ฉ. กลับยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ที่ธรณีสงฆ์ขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่ ท. ด. เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รายงานเท็จต่อคณะกรรมการจัดผลประโยชน์ของจำเลยว่าไม่มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินคณะกรรมการจึงอนุญาตให้ ท.เป็นผู้เช่าแทน ฉ. ได้ ดังนี้แม้ในทางปฏิบัติจะมีความเห็นของเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของบ้านผู้นั้นควรได้รับเช่าที่ดินก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเด็ดขาดว่า จำเลยต้องให้เช่าเสมอไปการที่มีข้อสัญญาระหว่าง ฉ. กับโจทก์นั้นจำเลยก็มิได้เป็นคู่สัญญาด้วยข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลย ฉะนั้น การที่โจทก์รับซื้อฝากบ้านจนหลุดเป็นสิทธิไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเช่าที่ดิน และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยทำรายงานเท็จก็เป็นเรื่องทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนหนึ่งต่างหาก หาใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ไม่ได้เช่าที่พิพาทไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับซื้อฝากบ้านไม้ครึ่งตึกสองชั้น 1 หลัง และบ้านแบบบังกะโลอีก 2 หลัง ซึ่งปลูกอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ วัดทองนพคุณ จากนางฉลวยศกุนะสิงห์ โดยมีข้อสัญญาว่า หากสัญญาซื้อขายฝากบ้านนี้ขาดอายุสัญญานางฉลวยยินยอมโอนสิทธิการเช่าที่ดินธรณีสงฆ์ดังกล่าวให้โจทก์ ครั้นครบ 1 ปีบ้านหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ แล้วนางฉลวยกลับยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ที่ธรณีสงฆ์ขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้มีชื่อ และด้วยความร่วมมือของข้าราชการในสังกัดของจำเลยได้รายงานเท็จขึ้นมาว่า นางฉลวยเป็นผู้เช่าที่ดินรายพิพาท แต่ไม่ได้รายงานว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท ได้ขายฝากไว้กับโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้ว ซึ่งตามระเบียบแบบแผนของทางราชการของจำเลยมีอยู่ว่า หากกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ธรณีสงฆ์เป็นของผู้ใดก็จะต้องพิจารณาให้ผู้นั้นเป็นผู้เช่าที่ดินนั้น จำเลยหลงเชื่อรายงานเท็จดังกล่าว จึงอนุมัติให้นางฉลวยโอนสิทธิการเช่าที่ดินรายพิพาทให้ผู้อื่นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอศาลบังคับให้จำเลยจัดการโอนสิทธิการเช่าที่ดินรายพิพาทให้โจทก์ เป็นผู้เช่าโดยตรงกับจำเลย หากจำเลยไม่สามารถจัดการได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่มีระเบียบแบบแผนทางราชการหรือกฎหมายบัญญัติว่า หากกรรมสิทธิ์บ้านที่ขายฝากในที่ธรณีสงฆ์ตกเป็นของผู้รับซื้อฝากแล้ว ผู้รับซื้อฝากจะได้เป็นผู้เช่าที่ดินแปลงนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางฉลวยไม่ผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า กรมจำเลยไม่มีระเบียบแบบแผนหรือแม้แต่เพียงธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติว่า ถ้าผู้ใดได้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง จะต้องให้ผู้นั้นเป็นผู้เช่าที่ดินด้วย ข้อสัญญาระหว่างนางฉลวยกับโจทก์ไม่ผูกพันจำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาไม่ได้ความว่ามีระเบียบแบบแผนและธรรมเนียมดังที่โจทก์อ้าง แต่ได้ความตามคำพยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมการศาสนาว่า จำเลยไม่ผูกพันที่จะให้ผู้ซื้อฝากได้เป็นผู้เช่าเสมอไป โดยเจ้าหน้าที่จะทำบันทึกเพิ่มเติมไว้ท้ายคำขออนุญาตขายฝากสิ่งปลูกสร้างทุกรายว่า การขายฝากไม่ผูกพันผู้รับซื้อฝากในกรณีเกี่ยวกับโอนสิทธิการเช่า แม้จะปรากฏว่ามีความเห็นตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวน นายดิเรกสิริโสมะ ว่าในทางปฏิบัติ ผู้ใดเป็นเจ้าของบ้านผู้นั้นควรได้รับเช่าที่ดินภายใต้ระเบียบข้อบังคับของกรมการศาสนา ก็เป็นแต่ความเห็นของเจ้าหน้าที่ หาใช่เป็นข้อบังคับเด็ดขาดว่าจำเลยจะต้องให้เช่าเสมอไปไม่ การที่จำเลยมีหนังสือแสดงความยินยอมให้ขายฝากบ้านก็เป็นเรื่องที่ได้หารือทางวัดเจ้าของที่ดินแล้วไม่ขัดข้อง จึงแจ้งไปยังอำเภอเพื่อจะได้จดทะเบียนขายฝากให้ มิได้หมายความว่ายอมให้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดิน ส่วนข้อสัญญาระหว่างนางฉลวยกับโจทก์ที่ว่าถ้านางฉลวยไม่ไถ่บ้านคืนภายใน 1 ปียอมโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์นั้น จำเลยเป็นบุคคลภายนอก มิได้เป็นคู่สัญญา ข้อตกลงดังกล่าวหาผูกพันจำเลยไม่สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์รับซื้อฝากบ้านจนหลุดเป็นสิทธินั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเช่าที่ดิน จำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทแม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยจะทำรายงานเท็จก็เป็นเรื่องทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนหนึ่งต่างหาก หาใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ไม่ได้เช่าที่พิพาทไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน