คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ค่าชดเชยของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่เป็นบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ส่วนหนี้ค่าจ้างคนงานที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นบุริมสิทธิตาม มาตรา 253(4) และมาตรา 257 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างนับถอยหลังไปสองเดือนแต่ไม่เกิน 150 บาท

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑จ่ายค่าจ้างค้างชำระและค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง แต่จำเลยที่ ๑ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ ๑ เพื่อขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลแพ่งจำนวนหนึ่ง ผู้ร้องไม่สามารถจะเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ได้ เนื่องจากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ถูกโจทก์ยึด ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องจนครบถ้วนได้
โจทก์คัดค้านว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนก่อนเจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ ๑ มีทรัพย์สินอื่นอีกพอที่ผู้ร้องจะบังคับคดีเอาได้สิ้นเชิง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้กับผู้ร้องโดยสิ้นเชิง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์สินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์จึงมีบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างเป็นเงิน๑๕๐ บาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๗ ให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ ๑๕๐ บาทแก่โจทก์ก่อน ที่เหลืออนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดได้ตามคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า บุริมสิทธิสามัญจะมีได้เฉพาะมูลหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๕๓ ซึ่งมี (๑) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน (๒) ค่าปลงศพ (๓) ค่าภาษีอากร (๔) ค่าจ้างเสมียน คนใช้และคนงาน (๕) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน หนี้ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิใช่มูลหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวจึงไม่เป็นบุริมสิทธิ ส่วนค่าจ้างคนงานนั้นเป็นบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๓(๔) ประกอบกับมาตรา ๒๕๗ วรรคสองซึ่งบัญญัติว่าบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างคนงานนั้นใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสองเดือน แต่ไม่ให้เกิน ๑๕๐ บาท ต่อคนงานคนหนึ่ง ๆ ซึ่งหมายความว่าบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างคนงานนั้นให้นับถอยหลังไปสองเดือนแต่ถ้าหากค่าจ้างสองเดือนดังกล่าวมีจำนวนเงินเกินกว่า ๑๕๐ บาท ก็ให้มีบุริมสิทธิในมูลหนี้นั้นเพียง ๑๕๐ บาท โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๗,๗๑๕บาท ค่าจ้าง ๒ เดือนมีจำนวนมากกว่า ๑๕๐ บาท โจทก์จึงมีบุริมสิทธิในมูลค่าจ้าง ๑๕๐ บาท
พิพากษายืน

Share