คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยไว้ในพินัยกรรมเพียงผู้เดียว และระบุประเภทของทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินใดๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของเจ้ามรดกที่มีต่อลูกหนี้ให้ตกแก่จำเลย แม้จะมีข้อความในพินัยกรรมว่า จำเลยจะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดเมื่อเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร ข้อกำหนดดังกล่าวหาได้กำหนดให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ แทนเจ้ามรดกไม่ แต่มีความหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยจะยกทรัพย์มรดกหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยตามแต่จะเห็นสมควร ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกทั้งหมดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของจำเลย ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2537 ของนายอุทัยเป็นพินัยกรรมปลอม เป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้ทำลายหรือเพิกถอนพินัยกรรมฉบับดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์ทั้งสองและจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า พินัยกรรมของนายอุทัยฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2537 มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า พินัยกรรมของนายอุทัยฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2537 มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารท้ายคำร้องของโจทก์ทั้งสองข้อ 1 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (นายอุทัย) ขอสั่งการไว้ว่า บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ดี ทรัพย์สินใดๆ ก็ดี ตลอดจนสิทธิเรียกร้องต่อผู้อื่นซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะที่ข้าพเจ้าวายชนม์ลงแล้ว ข้าพเจ้าขอยกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่นายบูรพา (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว
เหตุผลที่ข้าพเจ้ายกทรัพย์มรดกของข้าพเจ้านี้ทั้งหมดแก่นายบูรพา (จำเลย) เพียงผู้เดียวนั้น ข้าพเจ้าได้พิเคราะห์และใคร่ครวญตระหนักดีแล้ว เห็นว่า บุคคลผู้นี้เป็นทายาทหรือบุตรที่ข้าพเจ้าเห็นสมควรได้รับมรดกและมีความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ส่วนนายบูรพา (จำเลย) จะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้กับผู้ใด เมื่อข้าพเจ้าได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร”
จากข้อความดังกล่าวในพินัยกรรม เห็นได้ว่า เจ้ามรดกได้กำหนดตัวบุคคลเป็นที่แน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรมไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงผู้เดียว และย่อมรู้ได้จากพินัยกรรมซึ่งระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไว้ชัดแจ้งพอที่จะทราบได้แน่นอนแล้วว่า ทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้ามรดกไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินใด ๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของเจ้ามรดกที่มีต่อลูกหนี้ให้ตกแก่จำเลยผู้เดียว ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงหาได้กำหนดให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ แทนเจ้ามรดกดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า “จำเลยจะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดเมื่อเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร” ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะยกทรัพย์มรดกหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยตามแต่จะเห็นสมควร ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกทั้งหมดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของจำเลย ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (3) พินัยกรรมของนายอุทัยเจ้ามรดกจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share