แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ แต่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายชื่อไว้ไปใช้ทำการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ยินยอม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อโจทก์หรือไม่และเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ไม่ใช่ลายมือชื่อปลอมจึงพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ทำการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ยินยอมหรือไม่ เมื่อปัญหาว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้โดยโจทก์มิได้ยินยอมเป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง ไม่เป็นประเด็นที่ศาลล่างทั้งสองจะต้องวินิจฉัย ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารให้ประทับฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 มีผลให้คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้น ยังไม่ได้ชี้ว่าหนังสือมอบอำนาจปลอมหรือไม่และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ถึงที่สุด ทั้งไม่อาจนำมาผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิด จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่จะฟังในคดีแพ่งได้ว่าหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม
ฎีกาโจทก์ในส่วนที่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งข้อ มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 713 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 โจทก์ตกลงขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 2,600,000 บาท ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำจำนวน 200,000 บาท กำหนดจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองและรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือในวันที่ 16 สิงหาคม 2539 แต่หลังจากครบกำหนดวันจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนนัดหลายครั้งจนกระทั่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) คืนแก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 407/2540 ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ โดยจำเลยที่ 2 ทราบว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวปลอมแล้วจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงวันนัดโอนสิทธิครอบครองตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญามัดจำจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อโจทก์จริง และจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าขอยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อซื้อขายที่ดินกับโจทก์โดยตรง ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทุจริตปิดบังเอาทรัพย์ของโจทก์หรือผลประโยชน์ของโจทก์ไป จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้แทนโจทก์ในการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 713 เลขที่ดิน 263 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ระหว่างโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาทและโจทก์รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาขายให้จำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิต่อเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 407/2540 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยรับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า หนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำการโอนสิทธิครอบครองแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ แต่ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฎีกาในทำนองว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ทำการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ยินยอม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อโจทก์หรือไม่และเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ไม่ใช่ลายมือชื่อปลอมจึงพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ทำการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ยินยอมหรือไม่ เมื่อปัญหาว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้โดยโจทก์มิได้ยินยอมเป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง ปัญหานี้จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลล่างทั้งสองจะต้องวินิจฉัย ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 มีมูล แต่คดีโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล จึงประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมชี้ให้เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. 11 เป็นหนังสือมอบอำนาจปลอมนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 มีผลให้คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้น ยังไม่ได้ชี้ว่าหนังสือมอบอำนาจปลอมหรือไม่ และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ถึงที่สุด ทั้งไม่อาจนำมาผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิด จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่จะฟังในคดีนี้ได้ว่าหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายมีข้อความที่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งข้อ มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ