แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไปดำเนินการเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่ขออออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แล้วร่วมกับจำเลยที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนายช่างรังวัดไปรังวัดที่ดิน ทำแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และรู้เห็นเสนอรูปแผนที่ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งการกระทำในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ การได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ทางราชการกรมที่ดินออกให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ในวันดังกล่าวการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอันเป็นการสนับสนุนของจำเลยที่ 2 ยังดำเนินอยู่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 157 และ 162
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 5 ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 5 เข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 6 และที่ 8
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 กับพวกร่วมกันปฏิบัติราชการตามหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย รัฐบาล ผู้อื่น และประชาชน อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รังวัดที่ดินโดยทราบเหตุความผิดแล้วละเว้นไม่ระงับการรังวัดที่ดิน แต่ยังคงเสนอรูปแผนที่ที่ดินที่ได้รังวัดและหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ทำไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของทางราชการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกเอกสารสิทธิในที่ดินต่อไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 7 ทราบเหตุความผิดแล้ว กลับลงชื่อและออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินคือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แก่นายพิริยะ โดยงดเว้นไม่ดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของทางราชการโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย รัฐบาล ผู้อื่น และประชาชนดังที่วินิจฉัยแล้ว ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าจำเลยดังกล่าวมีความผิดและลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องและพิจารณาได้ความนั้นได้ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาได้ความด้วย แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง ก็ไม่ถึงขนาดที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่แต่อย่างใด
ส่วนจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์และการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 2 ได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ไปดำเนินการเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แล้ว จำเลยที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนายช่างรังวัดได้สมคบกับจำเลยที่ 2 กับพวกไปทำการรังวัดที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่จำเลยที่ 2 ยื่นมาและได้ร่วมกันทำแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทำไม่ถูกต้องในวันที่ 15 สิงหาคม 2546 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมรู้เห็นเสนอรูปแผนที่ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรังวัด แบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เจ้าพนักงานที่ดินได้ลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1484 และ 1485 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการดังได้วินิจฉัยแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นราษฎรย่อมเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ดังที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่ดินแปลงอื่นมาออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เป็นของจำเลยที่ 2 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปรังวัดที่ดิน ร่วมรู้เห็นทำแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ที่ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้อง แล้วร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ได้เสนอรูปแผนที่ที่รังวัด แบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ที่ทำไม่ถูกต้องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้พิจารณา ซึ่งการกระทำในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ การได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ทางราชการกรมที่ดินออกให้แก่จำเลยที่ 2 และสิทธิตามเอกสารนั้นนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การรังวัด การสอบสวนสิทธิและการพิสูจน์การทำประโยชน์ทำไม่ถูกต้องและเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้เสนอรูปแผนที่ที่จำเลยที่ 1 กับพวกรังวัดกับแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินไปแล้วก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินก็ยังอาจสอบถามถึงงานบางข้อที่ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรือมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขข้อที่ยังมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือให้ดำเนินแก้ไขเพิ่มเติม ในข้อที่ยังมีความบกพร่องก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ในห้วงเวลานับแต่จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกไปรังวัดที่ดิน การกระทำที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบไปตามตำแหน่งหน้าที่ก็ยังคงมีอยู่ตลอดไปจนกว่าเจ้าพนักงานที่ดินจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่เสนอเรื่องนั้นไป และการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 2 นั้น ก็ยังดำเนินไปจนกว่าเจ้าพนักงานที่ดินจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วในทำนองเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ในวันดังกล่าวการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอันเป็นการสนับสนุนของจำเลยที่ 2 ยังดำเนินอยู่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ส่วนนี้ชอบแล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การกระทำไม่เป็นความผิดในประการอื่นไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 หนักเกินไปหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนในลักษณะคดีหรือเป็นกรณีที่รูปคดีมีความคล้ายคลึงกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยมีผลถึงจำเลยที่ 1 และตลอดไปถึงจำเลยอื่นด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 213 คดีนี้ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 7 เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยดังกล่าวหนักไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 7 เป็นความผิดและพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8