คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ซึ่งแม้จะมีข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องได้ 5 ประการ ตามมาตรา 123 (1) ถึง (5) แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากข้อยกเว้นดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ ดังนั้นถ้านายจ้างมีเหตุอื่นที่จำเป็น นายจ้างก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างได้
ตั้งแต่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ทำให้จำเลยที่ 2 ประสบภาวะการขาดทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จำต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดขนาดขององค์กรให้เล็กลง โดยได้ยุบรวมหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่ และลดพนักงานในหน่วยงานของโจทก์ลงเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร จำเลยที่ 2 ได้ย้ายโจทก์ไปทำงานที่หน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานที่หน่วยงานใหม่ จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและความจำเป็นโดยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ และมิใช่เป็นการเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องการเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย

ย่อยาว

คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้ากับคดีอื่นอีกหนึ่งสำนวนซึ่งยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานรถยนต์นิสสันแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับโจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 6 – 7/2545 ยกคำร้องของโจทก์ ซึ่งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ ไม่พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นและคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 6 – 7/2545 ของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์มิได้มีเหตุจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ การปรับปรุงรวมถึงส่วนบัญชีเจ้าหนี้ที่โจทก์ทำงานอยู่โดยโอนย้ายโจทก์ไปทำงานในส่วนงานอื่น แต่โจทก์ไม่ยอมโอนย้าย และข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 รับกันแล้วว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 มีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์มิได้กระทำความผิดตามอนุมาตรา (1) ถึง (5) ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่จากข้อเท็จจริงที่ได้คือ จำเลยที่ 2 มีผลประกอบการในปี 2541 ถึง 2544 ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จำเลยที่ 2 จึงต้องพิจารณาแผนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ปรับลดอัตรากำลงคนโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทุกหน่วย ความซ้ำซ้อนของหน่วยงานโดยใช้ต่อพนักงานคนอื่น ๆ เหมือนกัน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 เมื่อได้ข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงได้มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ซึ่งคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถูกต้องและเป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ โดยนับตั้งแต่รัฐบาลลดค่าเงินบาท ให้ค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 จำเลยที่ 2 ต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีการขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปี 2544 จำเลยที่ 2 จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้และได้มีการปรับลดโยกย้ายพนักงานที่เกินความต้องการของบางหน่วยงานลงโดยใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันกับพนักงานทุกคน แต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงต้องเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชย และเงินต่าง ๆ ตามกฎหมายให้โจทก์ไปครบถ้วนแล้วการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่รถยนต์นิสสัน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2519 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานบัญชี ฝ่ายบัญชีและการเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 26,570 บาท โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรถยนต์นิสสันแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลในวันดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าชดเชยและเงินต่าง ๆ ตามกฎหมายให้แก่โจทก์แล้ว ตามหนังสือเลิกจ้าง สำเนาใบสำคัญจ่าย เอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.12 ขณะที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์อยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างเพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และเป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย ล.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ซึ่งแม้จะมีข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องได้ 5 ประการ ตามมาตรา 123 (1) ถึง (5) ก็ตามแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากข้อยกเว้นดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ ดังนั้นถ้านายจ้างมีเหตุอื่นที่จำเป็น นายจ้างก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ทำให้จำเลยที่ 2 ประสบภาวะการขาดทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จำต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดขนาดขององค์กรให้เล็กลง โดยได้ยุบรวมหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่ และลดพนักงานในหน่วยงานของโจทก์ลงเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร จำเลยที่ 2 ได้ย้ายโจทก์ไปทำงานที่หน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานที่หน่วยงานใหม่ จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและความจำเป็นโดยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์และมิใช่เป็นการเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องการเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share