คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น หรือทางจำเป็นอันตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่ให้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐาน ที่คู่ความนำสืบว่าจะเป็นทางประเภทใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังว่าทางพิพาทตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ ไม่ต้องเสียค่าตอบแทน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าทางพิพาท เป็นทางภารจำยอมหรือไม่นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนและใช้ดุลพินิจเลือกวินิจฉัย ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อใดข้อหนึ่งอันเป็นการตรงตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันตกเป็น ภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 บัญญัติรับรอง ให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินซึ่งแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดิมแล้วไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ให้มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิ ใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของจำเลยโดยอำนาจของกฎหมาย จำเลย ไม่ต้องไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6322 และ 6323 จำเลยเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1267 เดิมที่ดินของโจทก์จำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นของนายชั้น แพทย์ศาสตร์เมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้ว นายชั้นแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์จำเลยโจทก์ได้ส่วนทางทิศเหนือ จำเลยได้ส่วนทางทิศใต้ และโจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยกว้าง 1 เมตร ยาว 100 เมตร เป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ถนนสายน้ำรัก-ซากไทย ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปี มานี้ โจทก์และบริวารพร้อมกับเจ้าของที่ดินแปลงอื่นร่วมกันขยายเส้นทางผ่านที่ดินของจำเลยให้มีความกว้าง 3 เมตร ยาว 100 เมตรเพื่อใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์เป็นเวลามากกว่า 10 ปีโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอม ครั้นวันที่13 สิงหาคม 2536 จำเลยนำเสาปูนซีเมนต์ 2 ต้น เสาไม้ 1 ต้นปิดกั้นทางพิพาทดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นหรือทางจำเป็นอันตกเป็นภารจำยอม ให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมภายใน 7 วัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนซีเมนต์ 2 ต้น เสาไม้ 1 ต้น ที่ปิดกั้นออกไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะสามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้
จำเลยให้การว่า โจทก์ถือวิสาสะจากความเป็นญาติกับจำเลยเดินผ่านที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 1 ฟุต เพื่อออกสู่ทางสาธารณะนอกจากนี้มีเจ้าของที่ดินทางด้านทิศเหนือเดินผ่านที่ดินของจำเลยเฉพาะหน้าผลไม้ ต่อมากลางเดือนมกราคม 2536 โจทก์และเจ้าของที่ดินทางด้านทิศเหนือร่วมกันยื่นเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินและร่วมกันกันที่ดินของตนเองกว้าง 3 เมตร เป็นทางสาธารณะ แต่ไม่เชื่อมต่อกับทางสาธารณะเพราะมีที่ดินของจำเลยขวางอยู่ โจทก์จึงนำหินมาถมที่ดินของจำเลยเพื่อให้มีทางกว้างประมาณ 1 เมตร และเพื่อให้รถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้ จำเลยจึงได้นำเสามาปักปิดกั้นมิให้โจทก์นำรถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินของจำเลยคงเว้นช่องทางให้คนและรถจักรยานยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ทางกว้าง 3 เมตร ยาว 100 เมตรตลอดแนวที่ดินของจำเลยจากทิศเหนือจดทิศใต้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.1ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1267ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ของจำเลยเป็นทางจำเป็นตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6322 และ 6323 ตำบลท่าหลวงอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ของโจทก์ให้จำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยนำเสาปูนและเสาไม้ออกไปจากทางภารจำยอมดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ทางกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศเหนือจดทิศใต้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1267ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ของจำเลยตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6322 และ 6323 ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขามจังหวัดจันทบุรี ของโจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าทดแทน ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าทางพิพาทตกเป็นทางจำเป็นและเป็นทางจำเป็นอันตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ทางพิพาทกว้าง 3 เมตรยาว 100 เมตร บนที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นหรือทางจำเป็นอันตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่ให้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบว่าจะเป็นทางประเภทใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าทางพิพาทตามความกว้างยาวดังกล่าวตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าทดแทนกรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่นั้นเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนและใช้ดุลพินิจเลือกวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อใดข้อหนึ่งอันเป็นการตรงตามความประสงค์ของโจทก์แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นซึ่งโจทก์มีสิทธิใช้โดยอำนาจของกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 บัญญัติรับรองให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินซึ่งแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงเดิมแล้วไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะให้มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของจำเลยโดยอำนาจของกฎหมายจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share