คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจ มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้เฉพาะใน 2 กรณี คือในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาลภายหลังที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไปบ้างแล้ว และศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่จงใจขาดนัดหรือมีเหตุอันสมควร ศาลจึงจะสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสาม แต่ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณานั้นคงขาดนัดตลอดไปจนศาลพิจารณาคดีฝ่ายเดียวไปจนเสร็จสิ้นแล้ว และพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดีในประเด็นพิพาท คู่ความซึ่งแพ้คดีโดยไม่จงใจขาดนัดยังมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา207 เมื่อโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 เสร็จสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 203 คือ ฟ้องใหม่ภายในอายุความเท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำละเมิดขับรถยนต์กระบะแล่นทับตัวโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 717,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์มิได้จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจ มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้เฉพาะใน 2 กรณี คือ ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียวถ้าคู่ความที่ขาดนัดมาศาลภายหลังที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานของคู่ความฝ่ายหนึ่งไปบ้างแล้ว และศาลเห็นว่า คู่ความฝ่ายนั้นไม่จงใจขาดนัดหรือมีเหตุอันสมควร ศาลจึงจะสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม แต่ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณานั้นคงขาดนัดตลอดไปจนศาลพิจารณาคดีฝ่ายเดียวไปจนเสร็จสิ้นแล้ว และพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดีในประเด็นพิพาทคู่ความซึ่งแพ้คดีโดยไม่จงใจขาดนัดยังมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 เมื่อโจทก์จำเลยขาดนัดพิจารณาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 เสร็จสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 203 คือ ฟ้องใหม่ภายในอายุความเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share