คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2388/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์บังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นบริวารของ บ. ให้ออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่พิพาทเดียวกันกับคดีนี้ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยเพราะที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง เมื่อคำร้องดังกล่าวตั้งประเด็นว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวจึงมีว่า ที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องนั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมิใช่บริวารจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้อง ดังนี้ คำวินิจฉัยที่รับฟังว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่มีประเด็นแห่งคดีเดียวกันกับคดีนี้ ผลแห่งคำวินิจฉัยย่อมผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องถือตามว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของผู้ร้อง หรือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1
เมื่อคดีแพ่งของศาลชั้นต้น มี บ. เป็นโจทก์ ว. และ ด. เป็นจำเลย โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความด้วย คำวินิจฉัยที่ให้ บ. ชนะคดีในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาด้วยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยิมยอมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิในที่พิพาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยินยอมของเจ้าของที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายบริวารและทรัพย์สินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ พร้อมส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามเข้ายุ่งเกี่ยว และร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายออกจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 30 ไร่ ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องขับไล่นายบรรจงออกจากที่ดิน ส.ค.1 เนื้อที่รวม 492 ไร่ และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ขับไล่นายบรรจงและบริวาร โจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้โจทก์เข้าครอบครอง แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกบังคับคดีในฐานะบริวารของคดีดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 30 ไร่นี้ ไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ และเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฟังได้ว่าที่พิพาทดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บริวารนายบรรจง โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ผูกพันโจทก์ในเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทเนื้อที่ 30 ไร่ นี้หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสาม หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ โดยอ้างว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้แตกต่างกันโดยคดีก่อนมีประเด็นว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของนายบรรจงหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน 30 ไร่ และมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมิได้มีประเด็นเพียงว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของนายบรรจงหรือไม่เท่านั้นดังที่โจทก์อ้าง เนื่องจากในคดีก่อนที่โจทก์บังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นบริวารของนายบรรจงให้ออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่พิพาทเดียวกันกับคดีนี้โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยเพราะที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง เมื่อคำร้องดังกล่าวตั้งประเด็นว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้องประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวจึงมีว่า ที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องนั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้อง ดังนี้ คำวินิจฉัยที่รับฟังว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่มีประเด็นแห่งคดีเดียวกันกับคดีนี้ ผลแห่งคำวินิจฉัยย่อมผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องถือตามว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของผู้ร้องหรือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์ยกข้ออ้างมาในฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ก่อนคดีนี้มีอีกคดีหนึ่งระหว่างนายบรรจงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาววงแข และนางดารา เป็นจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 926-927/2518 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนางสาววงแขและนางดาราได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทแทนนางสาววงแขและนางดาราต่อมาคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้นายบรรจงชนะคดี คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมปิดปากจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มิให้โต้เถียงได้ว่าที่พิพาทเป็นของตนเองนั้น เห็นว่า เมื่อคดีดังกล่าวมีนายบรรจงเป็นโจทก์ นางสาวแข และนางดาราเป็นจำเลย โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความด้วย คำวินิจฉัยที่ให้นายบรรจงชนะคดีในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาด้วยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิในที่พิพาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยินยอมของเจ้าของที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share