คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะปิดอากรแสตมป์ลงในใบมอบอำนาจเป็นจำนวนเท่าใดนั้น บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของประมวลรัษฎากรกำหนดในข้อ 7 ว่า (ข) การมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่า ครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ส่วน (ค) การมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคล หลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ให้ติดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ ผู้รับมอบอำนาจคือ ส. หรือ ข. คนใดคนหนึ่งฟ้องคดีแพ่ง และกระทำการอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ จึงเป็นกรณีการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท รวม 60 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเพียง 30 บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน มีผลให้ไม่อาจใช้เป็นพยาน หลักฐานในคดีนี้ได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๙,๒๘๐,๔๘๓.๘๙ บาท และชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐.๗๕ ต่อปี ในเงินต้น ๖,๒๒๘,๙๕๙.๓๑ นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้หรือชำระ ไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดที่ดินทุกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้อายัดหรือยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจกท์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๙,๒๘๐,๔๘๓.๘๙ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๐.๗๕ ต่อปี ในเงินต้น ๖,๒๒๘,๙๕๙.๓๑ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ยื่นฟ้องวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๓๒๒ และเลขที่ ๓๖๓๒๓ ตำบลคลองตัน (ที่ ๑๑ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอคลองเตย (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร กับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๑๙, เลขที่ ๒๕๙๑๒, เลขที่ ๑๕๙๑๓, เลขที่ ๒๕๙๑๔, เลขที่ ๒๕๙๑๕, เลขที่ ๒๕๙๑๖ และเลขที่ ๑๕๙๑๗ ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าได้เงิน ไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า กรณีเห็นสมควรหยิบยกอุทธรณ์ข้อ ๔ ของจำเลยทั้งสามขึ้นวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เอกสารหมาย จ. ๒ ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า สำหรับใบมอบอำนาจนั้น บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด ๖ ของ ป. รัษฎากรกำหนดในข้อ ๗ ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ๓๐ บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ ๓๐ บาท เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้นายสายัณต์ หรือนายบัณฑิต เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ในการดำเนินคดี และกระทำการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ ๒ ถึง ๘ โดยให้ผู้รับมอบอำนาจคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการดังกล่าวแทนโจทก์ในนามโจทก์ได้ ดังนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ ๓๐ บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ ๗ (ค) ท้าย ป.รัษฎากร เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๒ โจทก์ได้ มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ ๒ คน คนใดคนหนึ่งทำการฟ้องคดีแพ่งและกระทำการอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ ๓๐ บาท รวม ๖๐ บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจนั้นจำนวนเพียง ๓๐ บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. ๒ จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็น พยานหลักฐานหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘ เมื่อหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. ๒ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสายัณห์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ นายสายัณห์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share