คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งมีอาชีพรับราชการทหารกับพวกคือสิบเอก ส. ร่วมกันกระทำผิดฆ่าผู้ตาย ผู้ตายได้ใช้อาวุธปืนยิงสิบเอก ส. ถึงแก่ความตาย ก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าตามฟ้องสิบเอก ส. เป็นนายทหารประทานประจำการ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 16(3) เพราะยศทหารมิได้ใช้เฉพาะทหารประจำการเท่านั้น และการที่ผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงสิบเอก ส. อาจเป็นการป้องกันโดยชอบไม่มีความผิดก็ได้ จึงถือว่าผู้ตายกระทำผิดด้วยกันกับจำเลยทั้งสองไม่ได้ แม้ต่อมาโจทก์นำสืบได้ความว่าขณะถูกโจทก์กล่าวหาว่ากระทำผิด สิบเอก ส. รับราชการทหาร เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังจากเมื่อศาลพลเรือนได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้วว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 15 วรรคสอง ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ แม้โจทก์จะมิได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสิบเอก ส. ขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจศาลซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 เรียงกระทงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุกคนละ 16 ปี ฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 18 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ12 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยทั้งสองมียศทหารเป็นสิบตรี และมีอาชีพรับราชการทหาร และบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกคือ สิบเอกสุทิน ช่วยสุข กระทำผิด โดยมิได้ระบุว่าสิบเอกสุทินเป็นนายทหารนอกราชการ และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ได้ความว่า ขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกับสิบเอกสุทินกระทำผิด สิบเอกสุทินรับราชการทหาร จำเลยทั้งสองจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 16(3) ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นต่อไป พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งมีอาชีพรับราชการทหารกับพวกคือสิบเอกสุทินร่วมกันกระทำผิดคดีนี้หลายข้อหา เฉพาะข้อหาฆ่านายอิง ทองบุญเกื้อ ผู้ตาย แม้โจทก์จะบรรยายไว้ด้วยว่านายอิงผู้ตายได้ใช้อาวุธปืนยิงสิบเอกสุทินพวกของจำเลยทั้งสองถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าตามฟ้องสิบเอกสุทินเป็นนายทหารประทานประจำการ และการกระทำของนายอิงผู้ตายเป็นความผิด เพราะยศทหารมิได้ใช้เฉพาะทหารประจำการเท่านั้น และการที่นายอิงผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงสิบเอกสุทินอาจเป็นการป้องกันโดยชอบไม่มีความผิดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ก็ได้ เมื่อนายอิงผู้ตายไม่ใช่ผู้กระทำผิดย่อมจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยกันกับจำเลยทั้งสองไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองกับนายอิงผู้ตายกระทำผิดด้วยกันจึงฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อตามฟ้องจะถือว่าสิบเอกสุทินเป็นนายทหารประทวนประจำการ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติ ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 16(3) ไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องจึงชอบแล้ว และแม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ขณะถูกโจทก์กล่าวหาว่ากระทำผิดคดีนี้สิบเอกสุทินรับราชการทหาร เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังจากเมื่อศาลพลเรือนได้สั่งรับประทับฟ้องไว้แล้วว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งพระราชบัญญัติ ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 วรรคสอง ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ แม้โจทก์จะมิได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสิบเอกสุทินขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจศาลซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นต่อไปตามรูปคดี

Share