แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยครอบครองทำกินในที่ดิน ส.ค.1 ของมารดามากว่า 20 ปีแล้วจำเลยได้ขายที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อมาเป็นเวลา 6-7 ปี โดยมารดาจำเลยทราบเรื่องแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับสละการครอบครองให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์ ที่ดินที่ซื้อขายมีเพียง ส.ค.1 ไม่อาจโอนกันได้โดยการแสดงเจตนาทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลจะบังคับให้โอนทางทะเบียนหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 จำเลยทำหนังสือสัญญาขายที่ดิน ส.ค.1 ให้แก่โจทก์ 1 แปลง ราคา 4,000 บาท เนื้อที่กว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร โดยจะไปทำนิติกรรมแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเดือนธันวาคม 2526 นางลั่น อินทรักษ์ มารดาจำเลยยื่นคำขอรังวัดขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ครอบคลุมถึงที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านแล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งให้จำเลยไปทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินเพื่อให้โจทก์ได้รับเอกสารสิทธิในการครอบครอง แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอบังคับให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทอีกต่อไป และให้จำเลยทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ได้รับเอกสารสิทธิในการครอบครองตามระเบียบของทางราชการ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาตามฟ้องจริงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาขายที่ดินพิพาท หากแต่นำที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นของมารดาไปประกันหนี้เงินกู้ไว้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 4,000 บาท โดยจำเลยยินยอมไปทำนิติกรรมแบ่งที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากผิดสัญญายอมให้โจทก์ปรับ 5 เท่าของราคาขายปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้รับเงินค่าขายที่ดินไปจากโจทก์แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินนั้นของโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนำสืบว่า นางลั่น อินทรักษ์มารดาจำเลย เป็นเจ้าของที่ดิน มี ส.ค.1 เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 20ตารางวา ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว ขณะทำหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ก็ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของมารดาจำเลย จำเลยเคยไปขอไถ่ที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยินยอม
โจทก์นำสืบว่า หลังจากซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ประมาณ 3 เดือน โจทก์ได้ถมดิน ล้อมรั้ว และปลูกผักทำสวนครัวในที่ดินพิพาท ต่อมายังได้ปลูกต้นมะพร้าวด้วย ครั้นกลางปีพ.ศ. 2526 จำเลยมารื้อรั้วของโจทก์ทิ้งและปลูกต้นข้าวในที่ดินพิพาทโจทก์ได้ถอนต้นข้าวนั้นทิ้ง จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์ทำลายทรัพย์สิน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบจากโจทก์ว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทแล้ว จึงให้ไปตกลงกันเอง หลังจากนั้นจำเลยไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทในนามของมารดาจำเลย โจทก์ได้คัดค้าน เจ้าหน้าที่จึงระงับเรื่องไว้
พิเคราะห์แล้ว คดีได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า หลังจากทำหนังสือสัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์นำดินไปถมที่ดินพิพาทและทำรั้วรอบที่ดินดังกล่าว ทั้งยังนำต้นมะพร้าวไปปลูกในที่ดินนั้นประมาณ 3-5ต้นขณะนี้ก็ยังมีอยู่ นายคล้อย กองจางวาง พยานจำเลยเบิกความว่าที่ดินพิพาทมีการถมดินแล้ว มีต้นมะพร้าวประมาณ 5 ต้น เก็บผลกินได้แล้วคำของจำเลยและพยานจำเลยดังกล่าวจึงเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ นอกจากนี้ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1ตอนท้ายก็มีใจความว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินได้ตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญานั้นด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ต่อไปอีกว่า หลังจากซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้วประมาณ 3 เดือน โจทก์ได้ถมดิน ล้อมรั้ว และปลูกผักทำสวนครัวในที่ดินพิพาท ต่อมายังได้ปลูกต้นมะพร้าวดังที่โจทก์นำสืบ ซึ่งถ้านับถึงปี พ.ศ. 2526 อันมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยหวนกลับเข้าไปปลูกข้าวในที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ถอนต้นข้าวนั้นทิ้ง ก็เป็นระยะเวลาที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาประมาณ 6-7 ปีแล้วและโดยที่ปรากฏจากคำเบิกความของนายห้วง รอดระกำ พยานจำเลยซึ่งเป็นสามีจำเลยว่า นายห้วงกับจำเลยทำกินในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา 27 ปีและคำเบิกความของนายผ่อง ไพโรจน์ กับนายล่วน ทวีทอง พยานโจทก์โดยจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ระยะที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ นางลั่นมารดาจำเลยก็อยู่ที่บ้านจำเลย แม้ต่อมาจะไปอยู่ที่บ้านนางเอี้ยวพี่สาวจำเลย แต่บ้านนางเอี้ยวก็อยู่ในหมู่ที่ 6 อันเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับที่บ้านของจำเลยและที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ดังนั้น นางลั่นจึงต้องทราบถึงเรื่องที่โจทก์ได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาท แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ส.ค.1 เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีชื่อนางลั่นเป็นเจ้าของแต่พฤติการณ์ที่จำเลยได้ทำกินในที่ดินพิพาทมากว่า 20 ปี แล้วขายให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ล้อมรั้วเข้าครอบครองทำกินในที่นั้นต่อมาเป็นเวลาถึง 6-7 ปี โดยนางลั่นไม่โต้แย้งคัดค้านเช่นนี้ จึงเชื่อได้ว่านางลั่นได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรและทราบเรื่องที่จำเลยขายที่ดินนั้นให้โจทก์แล้ว มิฉะนั้นนางลั่นก็ต้องโต้แย้งคัดค้านการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างแน่นอน คงไม่ปล่อยให้โจทก์เข้าครอบครองนานถึง 6-7 ปี เช่นนี้ นอกจากนี้จำเลยก็หาได้นำนางลั่นเข้าเบิกความตามที่ระบุไว้ในบัญชีพยานแต่อย่างใดไม่พยานหลักฐานของจำเลยที่ว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของนางลั่นอยู่จึงขัดต่อเหตุผล ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยดังที่โจทก์นำสืบ เมื่อจำเลยขายให้แก่โจทก์แล้วก็ไม่มีสิทธิเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์อีก แต่ที่โจทก์ขอบังคับให้จำเลยไปทำนิติกรรมให้โจทก์ได้รับเอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาท หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามีแต่ ส.ค.1 ยังไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ น.ส.3 จึงไม่อาจจะโอนกันได้โดยการแสดงเจตนาทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลจะบังคับให้โอนทางทะเบียนหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางลั่น จำเลยไม่มีอำนาจขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ และพิพากษาฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก