คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ในการแลกเปลี่ยนด้วย ฉะนั้นแม้โจทก์จำเลยทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ได้ส่งมอบที่ดินส่วนของตนให้จำเลยแล้วถือเป็นการชำระหนี้บางส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 3042และ 3043 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ติดกัน ด้านหนึ่งของที่ดินอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 15981และ 15982 ของจำเลย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2521 โจทก์กับจำเลยได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน โดยจำเลยยอมยกที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 15981 และ 15982 ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก กว้าง25 เมตร และยาว 20 เมตร ให้แก่โจทก์ และโจทก์ยอมยกที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นถนนทางสาธารณะเพื่อประโยชน์ของจำเลย กับยกส่วนที่เหลือจากทำถนนกว้างประมาณ 1 เมตร ให้แก่จำเลย โจทก์ได้ยกที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยไปแล้วตามข้อตกลง ส่วนจำเลยยังไม่ได้โอนให้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์หลังจากได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว หลังจากที่ดินของจำเลยได้ออกเป็นโฉนดที่ดินแล้ว ประมาณปลาย พ.ศ. 2522 โจทก์กับจำเลยก็ได้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์อันถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์แต่ไม่อาจโอนได้ เนื่องจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งในที่ดินของจำเลยเป็นคนวิกลจริต จำเลยจึงรับรองกับโจทก์ว่าจะได้ร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของคนวิกลจริตแล้วจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังที่ศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้อนุบาลแล้ว จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายปัจจุบันที่ดินมีราคา 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกว้าง 25 เมตร ยาว 20 เมตร ให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และถ้าไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ก็ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่พิพาทกับโจทก์จริง แต่จำเลยได้ซื้อที่พิพาทคืนจากโจทก์แล้วจำเลยไม่เคยรับสภาพหนี้ใด ๆ กับโจทก์และไม่เคยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อโอนที่ดินให้แก่โจทก์คดีโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้ำเพราะก่อนนี้นายพิณ รักษา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในมูลหนี้เดียวกันนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 289/2531สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องก็ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาทตามแผนที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15981 และ 15982 ตำบลสะเตงอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่จดทะเบียนโอนให้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยหรือถ้าไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ ก็ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีฟังได้ตามคำฟ้องคำให้การและทางพิจารณาที่คู่ความนำสืบรับกันโดยมิได้มีฝ่ายใดฎีกาโต้เถียงว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2521 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกันตามฟ้องโดยโจทก์ได้ส่งมอบที่ดินในส่วนที่ตกลงแลกเปลี่ยนให้แก่จำเลยไปแล้ว ส่วนที่ดินจำเลยในส่วนที่ตกลงแลกเปลี่ยนกับโจทก์ต่อมาได้ออกโฉนดตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 นั้นจำเลยยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์หรือส่งมอบให้แก่โจทก์ ก่อนฟ้องคดีนี้นายพิน รักษา เคยนำสัญญาฉบับเดียวกันนี้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและศาลยกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 289/2531ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นโมฆะและจำเลยซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่เคยรับสภาพหนี้ตามสัญญาคดีขาดอายุความและฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 289/2531 ของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่าการแลกเปลี่ยนมีบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ว่าบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้นให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย ดังนี้ เมื่อทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนกันเป็นที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และทำสัญญากันโดยที่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่คดีปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนกับจำเลยได้ส่งมอบที่ดินในส่วนที่ตกลงแลกเปลี่ยนให้แก่จำเลยแล้ว สัญญาแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงบังคับได้เช่นเดียวกับสัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพราะได้มีการชำระหนี้ตามสัญญากันบางส่วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง โจทก์นำมาฟ้องบังคับได้ ไม่โมฆะ คดีโจทก์ได้ความจากนายพิน รักษา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความฟังสอดคล้องกับคำเบิกความของนายเวียงวิทย์ ศรีชมภูมิและนายจรูญ กระจายวงศ์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายนิติกรรมและสัญญาและเจ้าหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดยะลาในขณะเกิดเหตุพยานโจทก์ว่าจำเลยกับนายพินซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ในการรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยเคยไปติดต่อขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินกับนายเวียงวิทย์และนายจรูญที่สำนักงานที่ดินดังกล่าวเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน และตุลาคม 2522 ที่จำเลยเบิกความว่าทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับโจทก์โดยโจทก์ตกลงจะให้จำเลยซื้อที่ดินแปลงของจำเลยคืนจากโจทก์และหลังจากทำสัญญาและรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินแล้วประมาณ 1 เดือน จำเลยก็ได้ซื้อคืนจากโจทก์ในราคา25,000 บาท นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ดินจำเลยยังมิได้ส่งมอบในส่วนที่แลกเปลี่ยนให้แก่โจทก์ ต่อมาก็ได้มีการรังวัดเพื่อแบ่งแยกออกโฉนดเป็น 8 แปลงที่ดินพิพาทเป็นแปลงตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8ซึ่งในวันรังวัดนั้นได้ความจากคำเบิกความของนายแวหะมะพยานจำเลยว่า โจทก์ก็ไปด้วยและโฉนดที่ดินของจำเลยรวมทั้งโฉนดที่ดินพิพาทเพิ่งจะออกเมื่อเดือนมกราคม 2522 มิใช่ 1 เดือนหลังจากทำสัญญาแลกเปลี่ยนดังที่จำเลยเบิกความ การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนหรือโจทก์จะเอาเงินแทนที่ดินที่แลกเปลี่ยนโดยไม่ได้ความว่าในส่วนที่ดิน ซึ่งจำเลยรับมอบไปจากโจทก์แล้วนั้นจะคิดกันอย่างไรในเมื่อตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ข้อที่จำเลยนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอให้เชื่อถือได้หลังจากโฉนดที่ดินพิพาทได้ออกแล้ว โจทก์ก็ได้ติดต่อกับจำเลยให้โอนที่ดินให้นายพินซึ่งก็ได้มีการนัดหมายกันและจำเลยก็ได้ไปยังสำนักงานที่ดินตามคำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้นซึ่งเป็นการกระทำเมื่อเดือนมิถุนายนและตุลาคม 2522 เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิมแล้วซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี และโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 289/2531 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนฎีกาของจำเลยในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าโจทก์ขาดสิทธิครอบครองแล้วนั้น จำเลยมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาแลกเปลี่ยนมิได้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่าเมื่อฟังว่าสัญญาแลกเปลี่ยนไม่เป็นโมฆะใช้บังคับได้ตามกฎหมายแล้ว การที่จะวินิจฉัยต่อไปว่าสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ย่อมไม่มีประโยชน์แก่คดีเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีไม่ขาดอายุความและพิพากษายืนให้จำเลยรับผิดตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share