แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย ขณะที่ข้อเรียกร้องยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ถ้าการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ใช่การกระทำตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31(1) ถึง (4) แล้ว จำเลยยังไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ระหว่างนั้นแม้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพของลูกจ้างจำเลย สหภาพแรงงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลย และได้มีการเจรจากันมาจนถึงวันฟ้องยังตกลงกันไม่ได้ แล้วจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยอ้างว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เพราะอยู่ในระหว่างที่สหภาพแรงงานฯยื่นข้อเรียกร้องและยังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยโจทก์เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพราะโจทก์เป็นสมาชิกของสหภาพฯ ความผิดที่จำเลยนำมาอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยชำระค่าจ้างระหว่างที่เลิกจ้างโจทก์จนถึงวันที่รับโจทก์เข้าทำงานด้วย
จำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพได้ยื่นข้อเรียกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และได้มีการเจรจากันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ยังตกลงกันไม่ได้การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปตามปกติธรรมดาเพราะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับเพียง 1 ปีจึงมีการเจรจาต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันทุกปี เนื่องจากจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับสหภาพแรงงานว่า หากลูกจ้างคนใดของจำเลยมีผลการปฏิบัติงานในรอบปีไม่ดี ไม่เป็นที่น่าพอใจของจำเลย จนกระทั่งได้รับการประเมินผลอยู่ในเกณฑ์ 0.7 ติดต่อกัน 3 ปี จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแรงงาน การเลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างระหว่างที่เลิกจ้างจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เคยเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของลูกจ้างจำเลย สหภาพแรงงานฯ มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนลูกจ้างจำเลยทั้งหมด จำเลยออกหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าพนักงานของจำเลยประเมินผลงานของโจทก์ในรอบ 3 ปี อยู่ในเกณฑ์ 0.7 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้าง ขณะเลิกจ้างโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา
พิเคราะห์แล้ว มาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่า ‘เมื่อการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการอนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว ฯลฯ’ข้อความในมาตรา 31 วรรคหนึ่งนี้ เป็นบทคุ้มครองลูกจ้างในระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง และอยู่ระหว่างเจรจามิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง โดยการเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อเรียกร้องของฝ่ายลูกจ้างได้รับการพิจารณาด้วยดี นายจ้างจะเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างด้วยเหตุใด ๆ ไม่ได้แม้แต่เหตุเลิกจ้างหรือเหตุโยกย้ายนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นเลยก็ตามอย่างไรก็ดี ข้อความในมาตรา 31 อนุมาตรา (1) ถึง (4) ก็เป็นบทคุ้มครองฝ่ายนายจ้างอยู่ด้วยโดยบัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่กระทำการดังที่บัญญัติไว้นั้นได้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายลูกจ้างกลั่นแกล้งฝ่ายนายจ้างในระหว่างยื่นข้อเรียกร้องและข้อเรียกร้องยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การที่พนักงานของจำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ในระยะ 3 ปีติดต่อกันว่าอยู่ในเกณฑ์ 0.7 ซึ่งแม้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ก็ดีแต่จำเลยก็มิได้เลิกจ้างโจทก์ก่อนเวลาที่มีการยื่นข้อเรียกร้อง หรือภายหลังจากที่ข้อเรียกร้องมีการเจรจา ไกล่เกลี่ย หรือชี้ขาดเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งการปฏิบัติงานบกพร่องของโจทก์ก็ไม่ใช่การกระทำตามมาตรา 31 อนุมาตรา (1) ถึง (4) จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องยังไม่เสร็จสิ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยชำระค่าจ้างระหว่างที่เลิกจ้างโจทก์ถึงวันที่รับโจทก์เข้าทำงานด้วย