คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ฎีกาของจำเลยจะคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มา แต่ก็เป็นฎีกาในเหตุเดียวกับที่จำเลยอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(3) นั้น คำว่าอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องจะต้องเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากคดีที่กำลังพิพาทกันอยู่โดยตรง เมื่อจำเลยให้การรับว่าเครื่องรับโทรทัศน์รายพิพาทไม่ใช่เครื่องรับโทรทัศน์ชนิดแบบวงจรปิดตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้ารวมทั้งภาษีบำรุงเทศบาลตามที่โจทก์ฟ้องดังนั้นศาลชั้นต้นย่อมสั่งงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรได้ การที่จำเลยได้รับการส่งเสริมการลงทุนสั่งและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์สีชนิดแบบวงจรปิด โดยให้ได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าและภาษีการค้า แต่จำเลยกลับนำเข้าโทรทัศน์สีซึ่งใช้รับภาพจากสถานีส่งภายนอกได้ด้วย และมีราคาแพงกว่าเช่นนี้จำเลยอ้างไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษีอากร การคิดเงินเพิ่มภาษีอากรไม่ถูกต้องและการให้เสียดอกเบี้ยของเงินเพิ่มซึ่งไม่ถูกต้องนั้นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อกฎหมายได้บัญญัติทางแก้ ในกรณีที่ไม่ชำระภาษีอากรตามกำหนดเวลาไว้ใน พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา และ ป.รัษฎากรมาตรา 89 ทวิ อยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามบทกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 6,785,773.76 บาท พร้อมดอกเบี้ย
เลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสามชัย จำกัด และสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง และเมื่อชี้สองสถานแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้เรียกบริษัทสามชัย จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและขอให้ทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าบริษัทสามชัย จำกัด จำเลย กับสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อาจถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มได้ จึงไม่อาจจะเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ และเมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นความรับผิดตามฟ้อง ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไป พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องแรกศาลฎีกาเห็นว่า แม้ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาเป็นฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นฎีกาในเหตุเดียวกับที่จำเลยอุทธรณ์นั่นเอง ฎีกาของจำเลยจึงไม่ใช่ฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังโจทก์แก้ฎีกา
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่า ไม่มีเหตุสมควรจะหมายเรียกบริษัทสามชัย จำกัด และสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่จะถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำขอของคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความฝ่ายนั้นอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดีจะเห็นได้ว่า คำว่าอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องจะต้องเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากคดีที่กำลังพิพาทกันอยู่โดยตรง กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกภาษีอากรจากจำเลยผู้นำของเข้าแม้หากสินค้ารายพิพาทที่บริษัทสามชัย จำกัด ติดต่อสั่งจากประเทศญี่ปุ่นจะไม่ตรงตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรีอนุมัติ หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติอนุมัติให้งดเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับสินค้ารายพิพาท แต่แล้วคณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติกลับมติเดิมให้เรียกเก็บภาษีอากรรายนี้ ก็ไาใช่เป็นเหตุโดยตรงให้จำเลยถูกฟ้องเรียกภาษีอากรเป็นคดีนี้ไม่ จำเลยถูกฟ้องเรียกภาษีอากรเพราะเป็นผู้นำเข้าสินค้า บริษัทสามชัย จำกัด ก็ดี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ก็ดี ไม่ได้มีส่วนในการนำเข้าซึ่งสินค้ารายพิพาท จำเลบยจึงไม่อาจฟ้องบริษัทสามชัย จำกัด หรือสำนักนายกรัฐมนตรี หรือถูกฟ้องไล่เบี้ยอันเนื่องมาจากการเสียภาษีอากรของจำเลยดังจำเลยฎีกาได้ไม่ หากจะมีการกระทำของบริษัทสามชัยจำกัด และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรีดังจำเลยฎีกา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะดำเนินคดีกับนิติบุคคลนั้น ๆซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เรียกบริษัทสามชัย จำกัด และสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเป็นการไม่ชอบนั้น ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเลขที่ 1023/2516 ให้เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภท 7.4 กิจการโรงแรม จำเลยได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับเครื่องรับโทรทัศน์สี ชนิดแบบวงจรปิดขนาด13 นิ้ว จำนวน 415 เครื่อง ที่สั่งและนำเข้าในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในกิจการโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ แต่จำเลยกลับสั่งและนำเข้าเครื่องรับโทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ขนาด 13 นิ้ว มอนิเตอร์ รุ่นเควี-1310 อี จำนวน 415 เครื่อง โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่ได้รับการงดเว้นภาษีอากรดังกล่าว และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้พิจารณาอนุมัติให้จำเลยงดเว้นการเสียอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามสิทธิที่ได้รับ แต่ต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้ตรวจพบว่า เครื่องรับโทรทัศน์สีที่จำเลยนำเข้ามานั้นไม่ใช่ชนิดแบบวงจรปิดโดยเฉพาะ ตามที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติ จึงได้มีมติเปลี่ยนแปลงไม่อนุมัติให้จำเลยได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าและภาษีการค้า จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ แต่กลับให้การยอมรับว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะบริษัทสามชัย จำกัด ผู้เสนอขายโทรทัศน์ให้จำเลยอ้างว่า โทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ขนาด 13 นิ้ว มอนิเตอร์ รุ่น เควี-1310 อเป็นแบบวงจรปิดจำเลยจึงได้สั่งเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เหตุจึงเกิดขึ้นเพราะการผิดสัญญาของบริษัทสามชัย จำกัด และหลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงมติใหม่เป็นว่าเครื่องรับโทรทัศน์สีที่จำเลยนำเข้าเป็นแบบธรรมดาไม่ใช่ชนิดแบบวงจรปิดโดยเฉพาะ บริษัทสามชัยจำกัด ก็ยังยืนยันอีกว่าเครื่องรับโทรทัศน์สีรายพิพาทเป็นแบบวงจรปิดโดยจำเบลยอ้างเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 ประกอบคำให้การด้วยซึ่งข้อความตามเอกสารดังกล่าวได้ความว่าเครื่องรับโทรทัศน์สีรายพิพาทเป็นเครื่องรับโทรทัศน์สีชนิดที่ใช้เป็น ทีวี มอนิเตอร์ได้ด้วยเมื่อนำมาใช้กับเครื่องบันทึกภาพโทรทัศน์วงจรปิด คำว่า “ด้วย”แสดงชัดว่าเครื่องรับโทรทัศน์รายพิพาทเป็นเครื่องรับโทรทัศน์มอนิเตอร์ที่ใช้วงจรปิดได้ และใช้เป็นเครื่องรับโทรทัศน์แบบธรรมดาก็ได้ทั้งสองประการ เมื่อจำเลยให้การรับว่าเครื่องรับโทรทัศน์รายพิพาทไม่ใช่เครื่องรับโทรทัศน์ชนิดแบบวงจรปิดตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ให้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภทโรงแรม จำเลบยนจึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้ารวมทั้งภาษีบำรุงเทศบาลตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรชอบแล้ว
จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า การสำแดงใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าของจำเลยไม่เป็นเท็จ จำเลยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามฟ้องศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 ได้บัญญัติให้จำเลยผู้นำของเข้า และยังไม่ได้ชำระค่าอากรที่ต้องเสีย เมื่อนำค่าอากรที่ต้องเสียมาชำระ ต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระนับแต่วันที่ได้ส่งมอบของตนถึงวันที่นำเงินมาชำระ การที่จำเลยได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ให้จำเลยสั่งและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์สี ชนิดแบบวงจรปิด โดยให้ได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าและภาษีการค้าก็เพื่อให้ใช้ในกิจการของโรงแรมแต่จำเลยกลับนำเข้าโทรทัศน์สีมอนิเตอร์ซึ่งนอกจากจะใช้ชนิดแบบวงจรปิดได้แล้วยังสามารถใช้รับภาพจากสถานีส่งภายนอกได้ด้วยซึ่งย่อมแน่นอนว่าต้องมีราคาแพงกว่าชนิดที่ใช้ได้เฉพาะแบบวงจรปิดแต่ประการเดียว ฉะนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า การสำแดงใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าไม่เป็นเท็จย่อมเป็นไปไม่ได้ พฤติการณ์เช่นนี้ จำเลยนจึงหาชอบที่จะอ้างว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษีอากรของรัฐ คำพิพากษาฎีกาที่ 612-613/2511 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ บริษัทเจริญวัฒนา จำกัด กับพวกจำเลย ที่จตำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงในคดีนั้นจำเลยไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงไม่เสียภาษีข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระเงินเพิ่มตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือนรวม 121 เดือน และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง แม้ปัญหานี้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาแต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นสมควรวินิจฉัยเสียให้ถูกต้องกล่าวคือเงินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องรับผิดเป็นเงิน 1,691,819.24 บาท จำเลยต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนนับแต่วันที่ได้ส่งมอบของตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 คือวันที่ 15 มีนาคม 2517 ถึงวันฟ้องวันที่ 2มีนาคม 2527 เป็นเวลา 120 เดือน คิดเป็นเงินเพิ่มอากรขาเข้าเป็นเงิน2,030,182.80 บาท และจำเลยต้องเสียภาษีการค้าเป็นเงิน1,318,984.56 บาท จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 และร้อยละ 1.5 นับจากวันที่ 3 กรกฎาคม2525 แต่ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระคือ 1,318,984.56 บาทส่วนภาษีบำรุงเทศบาล เป็นเงิน 131,448.46 บาทโจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยเสียเงินเพิ่มในส่วนนี้ จึงรวมเป็นเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 6,491,869.61 บาท สำหรับที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อกฎหมายได้บัญญัติทางแก้ในกรณีที่มีการไม่ชำระภาษีอากรตามกำหนดเวลาไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา และประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ อยู่แล้วเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระได้เพียงเงินเพิ่มตามบทกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน6,491,869.61 บาทให้โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก.

Share