แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ซึ่งกู้เงินโจทก์ ภายหลังจำเลยได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมใช้เงินให้โจทก์ โจทก์มาฟ้องเรียกเงินตามสัญญารับสภาพหนี้นั้น จำเลยจะอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้หาเพียงพอที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้ไม่และที่จำเลยต่อสู้คดีว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลย ก็มิใช่เป็นเรื่องผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวง จำเลยฟ้องแย้งเรียกเงินจากโจทก์3,850 บาท จำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 15, 22 (4) เพราะทุนทรัพย์เกิน 2,000 บาท จำเลยจึงฟ้องแย้งมาในคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเส่งทำหนังสือกู้เงินโจทก์ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันนายเส่งยังไม่ชำระหนี้ จำเลยแย่งเอาสัญญาไปทำลาย โจทก์ร้องทุกข์ จำเลยได้ทำสัญญาต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่นายเส่งกู้จากโจทก์ จำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ ๑,๖๐๐ บาท แต่แล้วจำเลยไม่ชำระตามกำหนด ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด จำเลยชำระหนี้เกินไป ๓,๘๕๐ บาท ฟ้องแย้งให้โจทก์คืนเงินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ ๑,๖๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลย จำเลยจะพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ หรือไม่ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ วรรคแรก บัญญัติว่าถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด แต่ตามฎีกาจำเลยและตามที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้เป็นเรื่องโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลย หาใช่ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเส่งลูกหนี้ไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ อย่างไรก็ดีคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยตามสัญญารับสภาพหนี้ตามสำเนาท้ายฟ้อง จำเลยจะอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเส่งลูกหนี้เพื่อให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้ที่โจทก์ฟ้องหาเป็นการเพียงพอที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดไม่
ฎีกาข้อหลังว่า ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๒๒(๖) นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยก็เป็นฟ้องนั่นเองคดีนี้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเป็นศาลแขวง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยฟ้องแย้งเป็นเงิน ๓,๘๕๐ บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๕,๒๒ เพราะทุนทรัพย์เกิน ๒,๐๐๐ บาทจำเลยจึงฟ้องแย้งมาในคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๗ ไม่ได้ ส่วนพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๒(๖) เป็นเรื่องอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวในศาลชั้นต้น ซึ่งอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๕ คลุมไม่ถึง จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลล่างสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน