คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม แผนผังและแบบแปลนที่จำเลยได้ รับอนุญาตให้ซ่อมแซม และดัดแปลงอาคารพิพาทนั้นได้ ระบุใช้ โครงสร้างเดิมซึ่ง เป็นไม้แต่ ในการดำเนิน การ จำเลยกลับรื้ออาคารหลังเดิม ทั้งหมด แล้วก่อสร้างใหม่ทั้งหลัง โดยใช้ โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเสาบ้านก็ก่อสร้างขึ้นใหม่ทุกต้น พร้อมกับขยายความกว้างของตัว อาคารออกไปอีก จึงเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแผนผังและแบบแปลนที่ได้ รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 และเป็นการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นตาม แบบแปลนที่จำเลยให้วิศวกรเขียนขึ้นใหม่โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 21 อีกด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า แนวอาคารด้าน ทิศเหนือและทิศใต้ห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะไม่ถึงด้าน ละ 3 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 32 วรรคแรก และหากจะให้แนวอาคารร่น ระยะห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะด้าน ทิศเหนือกับด้าน ทิศใต้เข้ามาให้ได้ด้าน ละ 3 เมตรที่ดินของจำเลยจะเหลือความยาวสำหรับก่อสร้างอาคารเพียง 6.80 เมตรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินจำเลยมีเนื้อที่ไม่พอที่จะขออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารใหม่ได้ ทั้งอาคารที่จำเลยก่อสร้างใหม่นี้เป็นอาคารที่พักอาศัยไม่มีที่ว่างเหลือ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่เป็นการขัดต่อ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวข้อ 76 อีก อาคารของจำเลยจึงไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว แม้อาคารดังกล่าวจะมีความมั่งคงแข็งแรงก็ถือได้ ว่ามีเหตุสมควรจะต้อง รื้อถอน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินและอาคารไม้ 2 ชั้น จำเลยที่ 2 เป็นสามีจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการซ่อมแซมและดัดแปลงอาคารดังกล่าวนั้น โดยใช้โครงสร้างเดิมตามแผนผังและแบบแปลนที่ยื่นประกอบหนังสือขออนุญาตซ่อมแซมและดัดแปลงอาคาร แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ทั้งเป็นการเพิ่มอาคารขึ้นเป็น 3 ชั้น อันเป็นการขยายพื้นที่เพิ่มจำนวนเสาและเพิ่มน้ำหนักหลังคา เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 83นอกจากนี้อาคารที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างขึ้นใหม่อยู่ริมทางสาธารณะไม่ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตรและเป็นอาคารที่พักอาศัยไม่มีที่ว่าง 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72, 76 อาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ได้ โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างและให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารเลขที่ 42ดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ขอให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถทำการซ่อมแซมดัดแปลงอาคารได้ จำเลยตอกเสาเข็มสามารถรับน้ำหนักได้โดยปลอดภัย วัสดุที่ใช้ประกอบตัวอาคารเป็นวัสดุที่มีคุณภาพ จำเลยทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงในตัวอาคาร เพราะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยเอง จำเลยไม่ได้ต่อเติมอาคาร ไม่ได้ขยายพื้นที่ ไม่ได้สร้างใหม่ ส่วนที่ว่างของอาคารนั้นโจทก์อนุญาตให้จำเลยทำได้ตามแบบแปลน จำเลยมิได้กระทำผิดกฎหมายหรือข้อปฎิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยรื้อโครงสร้างไม้อาคารของเดิมออกแล้วก่อสร้างใหม่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสิรมเหล็กและต่ออาคารขึ้นเป็น 3 ชั้น ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40และการเพิ่มชั้นอาคารอันเป็นการขยายพื้นที่เกินกว่า 6 ตารางเมตรเพิ่มเสาชั้นสาม 12 ต้น เพิ่มผนังชั้นสาม 4 ด้าน เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารเกินร้อยละ 10 ฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 83 นอกจากนี้การก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ในซอยวัดราชนัดดาอันเป็นทางสาธารณะ ซึ่งมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร โดยไม่ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร และเป็นอาคารที่พักอาศัยไม่มีที่ว่าง 30 ใน 100ส่วนของพื้นที่ ฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวข้อ 72, 76 พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น เลขที่ 42 ตรอกวัดราชนัดดา แขวงบวรนิเวศน์เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนอาคารดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้ โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมอาคารเลขที่ 42 ตรอกวัดราชนัดดาแขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม2524 จำเลยที่ 1 ยื่นหนังสือขออนุญาตซ่อมแซมและดัดแปลงอาคารดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2 พร้อมกับแนบแผนผังและแบบแปลนซ่อมแซมดัดแปลงตามเอกสารหมาย จ.4 กับได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการซ่อมแซมและดัดแปลงได้ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยอาคารดังกล่าวโครงสร้างเดิมเป็นไม้ทั้งหลัง หลังคามุงสังกะสี พื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีต จำเลยขอซ่อมแซมดัดแปลงโดยใช้โครงสร้างเดิม เปลี่ยนผนังชั้นล่างจากเดิมก่ออิฐฉาบปูน 2 ด้านเรียบต่อด้วยผนังไม้ยางไม้เคร่าตั้ง เป็นผนังก่ออิฐโปร่ง เอส.บี.พ.ฉาบปูนเรียบ 2 ด้านชั้นบนจากเดิมผนังไม้ยางไม้เคร่า เปลี่ยนเป็นผนังยิปซัมบอร์ดตีกรุ2 ด้านเคร่าไม้ และเปลี่ยนหลังคาเดิมซึ่งมุงด้วยสังกะสี เป็นมุงด้วยกระเบื้องโดยใช้โครงสร้างเดิมกับตอกเสาเข็มหกเหลี่ยมกลวง0.15 เมตร ตามแนวคานทุกระยะ 1.50 เมตร แต่ในการดำเนินการดังกล่าวจำเลยได้รื้ออาคารหลังเดิมออกทั้งหมดแล้วก่อสร้างใหม่ทั้งหลังโดยโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและขยายความกว้างของตัวอาคารจากเดิมซึ่งกว้าง 5.20 เมตร เป็น 6.50 เมตร ตามแบบแปลนเอกสารหมายล.1 ถึง ล.3 ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงมีว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นนี้เป็นการซ่อมแซมและดัดแปลงอาคารหลังเดิมหรือว่าเป็นการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นอันจะต้องถูกรื้อถอนหรือไม่เห็นว่า ตามแผนผังและแบบแปลนเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซมและดัดแปลงอาคารพิพาทนั้นได้ระบุใช้โครงสร้างเดิมซึ่งเป็นไม้ แต่ในการดำเนินการจำเลยกลับรื้ออาคารหลังเดิมออกทั้งหมดแล้วก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหลัง โดยใช้โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาบ้านก็ก่อสร้างขึ้นใหม่ทุกต้นพร้อมกับขยายความกว้างของตัวอาคารออกไปอีก จึงเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแผนผังและแบบแปลนตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และเป็นการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นตามแบบแปลนเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 ซึ่งเป็นแบบแปลนที่จำเลยให้วิศวกรเขียนขึ้นใหม่ และมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21อีกด้วย และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่จำเลยใช้ก่อสร้างอาคารนั้น มีความกว้าง 7 เมตร ยาว 11.10 เมตร ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะซึ่งกว้าง 1.90 เมตรและ 1.50 เมตร ตามลำดับ กับตามแผนผังและแบบแปลนเอกสารหมาย จ.4ปรากฏว่าแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้ห่างจากริมทางสาธารณะเพียง0.40 เมตร และ 0.50 เมตรตามลำดับ แนวอาคารด้านทิศเหนือจึงห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะเพียง 1.35 เมตร และห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะด้านทิศใต้เพียง 1.25 เมตร ไม่ถึงด้านละ 3 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรคแรก และถ้าหากจะให้แนวอาคารร่นระยะห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะด้านทิศเหนือกับด้านทิศใต้เข้ามาให้ได้ด้านละ3 เมตร ที่ดินของจำเลยจะเหลือความยาวสำหรับก่อสร้างอาคารเพียง6.80 เมตรเท่านั้น และเรื่องนี้ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายสุทัศน์ชมดี ผู้ช่วยหัวหน้าเขตพระนครพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ไม่พอที่จะขออนุญาตก่อสร้างอาคารใหม่ได้ ทั้งอาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นใหม่นี้เป็นอาคารที่พักอาศัย ไม่มีที่ว่างเหลือ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว ข้อ 76 อีก อาคารของจำเลยจึงไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว แม้อาคารดังกล่าวจะมีความมั่งคงแข็งแรงก็ถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะต้องรื้อถอน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share