คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6510/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวเลข “1” ประดิษฐ์ตัวหนาทึบอยู่ในพื้นสีขาว เขียวและเขียวเข้มลักษณะเป็นแฉกเหนือตัวเลข 1 เป็นภาษาจีน ถัดลงมาเป็นภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า “ทั้ง ซังฮะ” และมีคำว่า “น้ำปลาผสม” ส่วนด้านใต้ตัวเลข 1 ระบุแหล่งผู้ผลิตคือ ผลิตโดยบริษัทไพโรจน์(ทั่งซังฮะ) จำกัด ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวเลข “1” ประดิษฐ์เป็นลายไทย เหนือตัวเลข 1เป็นภาษาไทยอ่านว่า “น้ำปลาผสมตราเลขหนึ่ง” ถัดลงมาเป็นภาษาจีน ภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า “ตั้ง ซังฮะ” และมีคำว่า”แบ่งบรรจุโดยร้านมิตรไพโรจน์”ลักษณะเด่น ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองอยู่ที่ตัวเลข “1” ซึ่งอยู่ในพื้นสีขาวเขียวอ่อน และเขียวเข้มซึ่งเป็นแฉก เหมือนกัน อยู่ในฉลากขนาดเดียวกัน ด้านบนของตัวเลข 1 คำว่า “ตั้ง ซังฮะ” กับ”ทั้ง ซังฮะ” มีจำนวน 3 คำเท่ากัน และมีคำซ้ำกันถึง 2 คำคือ “ซัง”กับ”ฮะ” ส่วนคำที่ไม่ซ้ำกันคือคำว่า “ทั้ง” กับ”ตั้ง” ก็อ่านออกเสียงใกล้เคียงกัน ส่วนแหล่งผู้ผลิตซึ่งอยู่ด้านล่างของตัวเลข “1” มีคำว่า “ไพโรจน์” อย่างเดียวกันการจัดวางรูปเครื่องหมายการค้าเลข “1” ตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆคล้ายคลึงกัน และใช้กับสินค้าน้ำปลาอย่างเดียวกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ใช้มาก่อนและจดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายน้ำปลาภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา “ทิพรส” และตรา “1” มาตั้งแต่ปี 2504 ปี 2530 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรา “1”ไว้ตามคำขอเลขที่ 164979 ทะเบียนที่ 115862 เมื่อปี 2529ตลอดมาจนปัจจุบัน จำเลยผลิตและจำหน่ายน้ำปลาในท้องที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” ของโจทก์โดยเจตนาไม่สุจริต ทำรูปเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าตรา “1” ของโจทก์ แอบอิง ชื่อเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยมีเจตนาลวงขายให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยนั้นโจทก์เป็นผู้ผลิต เป็นผลให้การจำหน่ายน้ำปลาตรา “1” ของโจทก์ลดน้อยไปกว่าที่เคยขายได้และทำให้ผู้เคยบริโภคน้ำปลาตรา “1” ของโจทก์เป็นประจำเกิดความสับสนไม่มั่นใจว่าสินค้าน้ำปลาตรา”1″ ใดเป็นของแท้ จึงหันไปซื้อสินค้าตราอื่นของผู้อื่นโจทก์จะต้องลงทุนแก้ไขให้ได้ความเชื่อถือกลับคืนมา ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” หรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะคล้ายเครื่องหมายการค้าตรา “1”ของโจทก์กับสินค้าของจำเลยและให้จำเลยเก็บน้ำปลาของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” จากท้องตลาดโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยผลิตและจำหน่ายน้ำปลาโดยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1”มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าขึ้นเองไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าตรา “1” ของจำเลยแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าตรา “1”ของโจทก์อย่างชัดแจ้ง จำเลยมิได้ลวงขายประชาชน จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรา “1” ไว้ตามคำขอเลขที่ 155903 โดยโจทก์ไม่คัดค้าน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” ของจำเลยอีกต่อไป ให้จำเลยเก็บสินค้าน้ำปลาของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” ดังกล่าวจากท้องตลาดโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวเลข “1” ประดิษฐ์ตัวหนาทึบอยู่ในพื้นสีขาว เขียวและเขียวเข้ม ลักษณะเป็นแฉก เหนือตัวเลข 1 เป็นภาษาจีนถัดลงมาเป็นภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า “ทั้ง ซัง ฮะ” และมีคำว่า”น้ำปลาผสม” ส่วนด้านใต้ตัวเลข 1 ระบุแหล่งผู้ผลิตคือผลิตโดยบริษัทไพโรจน์ (ทั้งซังฮะ) จำกัด ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวเลข “1” ประดิษฐ์เป็นลายไทยเหนือตัวเลข1 เป็นภาษาไทยอ่านว่า “น้ำปลาผสมตราเลขหนึ่ง” ถัดลงมาเป็นภาษาจีน ภาษาไทยประดิษฐ์อ่านว่า “ตั้ง ซัง ฮะ” และมีคำว่า”แบ่งบรรจุโดยร้านมิตรไพโรจน์” ลักษณะเด่น ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองอยู่ที่ตัวเลข “1” ซึ่งอยู่ในพื้นสีขาว เขียวอ่อน และเขียวเข้ม ซึ่งเป็นแฉก เหมือนกันโดยอยู่ในฉลากขนาดเดียวกัน สำหรับด้านบนของตัวเลข “1” แม้ของจำเลยใช้คำว่า”ตั้ง ซัง ฮะ” ของโจทก์ใช้คำว่า “ทั้ง ซัง ฮะ” และด้านล่างของตัวเลข “1” ระบุแหล่งผู้ผลิตต่างกัน กล่าวคือ ของจำเลยใช้คำว่า “ร้านมิตรไพโรจน์” ของโจทก์ใช้คำว่า”บริษัทไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด แต่คำเหนือตัวเลขดังกล่าวมีจำนวน 3 คำ เท่ากัน และมีคำซ้ำกันถึง 2 คำ คือ “ซัง”กับ “ฮะ” ส่วนคำที่ไม่ซ้ำกันคือคำว่า “ทั้ง” กับ “ตั้ง”แต่ก็อ่านออกเสียงใกล้เคียงกัน ส่วนแหล่งผู้ผลิตซึ่งอยู่ด้านล่างของตัวเลข “1” มีคำว่า “ไพโรจน์” อย่างเดียวกันคงแตกต่างกันเฉพาะคำว่า “ร้าน” กับ “บริษัท” เท่านั้น การจัดวางรูปเครื่องหมายการค้าเลข “1” ตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆ คล้ายคลึงกัน ใช้กับสินค้าน้ำปลาอย่างเดียวกัน ของโจทก์ใช้มาแต่ปี 2504 ได้ประกาศโฆษณาทางวิทยุ และทางรถที่ออกจำหน่ายเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน จำเลยเพิ่งใช้มาเมื่อประมาณปี 2521 หลังโจทก์เกือบ 17 ปี จำเลยมีอาชีพเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลา เครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งเป็นตัวเลข “1” ประดิษฐ์เป็นลายไทยโดยไม่มีส่วนอื่นประกอบ จำเลยก็มิได้นำไปใช้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยทำเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ใช้และจดทะเบียนไว้จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share