คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ลงวันที่11มิถุนายน2516ข้อ6และข้อ23ว่าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้กำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่พอใจจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับการกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเมื่อวันที่29เมษายน2536คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยแล้วมีมติว่าโจทก์อยู่ในรหัสประเภทกิจการ1004″การประกอบรถยนต์”อัตราเงินสมทบร้อยละ0.6และรหัสประเภทกิจการอื่นๆเพิ่มเติมตามประเภทกิจการของผู้ว่าจ้างโจทก์โดยโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่24พฤศจิกายน2536การที่โจทก์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายในสามสิบวันนัดแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยตามข้อ25ของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้างต้นแต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนดโดยฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่23กันยายน2537โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนและการอุทธรณ์ลงวันที่11มิถุนายน2516ข้อ8เป็นกรณีที่ถ้าปรากฎว่ารหัสประเภทกิจการที่กำหนดไว้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยและเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบของนายจ้างให้ตรงกับข้อเท็จจริงเมื่อไม่ปรากฎว่าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบของโจทก์แต่อย่างใดทั้งการอุทธรณ์ตามข้อ8ก็ไม่ต้องขอให้สำนักงานประกันสังคมจำเลยที่1วินิจฉัยก่อนดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามข้อ8แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2534 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันสำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์เพื่อจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนไว้ที่รหัส 1004 ประเภทกิจการประกอบรถยนต์ซึ่งต้องชำระเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.6 อันเป็นการกำหนดรหัสประเภทกิจการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเนื่องจากกิจการที่โจทก์ดำเนินอยู่มิใช่การประกอบรถยนต์หากแต่เป็นกิจการให้บริการด้านแรงงาน โดยโจทก์มีรายได้จาก การคัดเลือกจัดหา ฝึกและส่งแรงงานเข้าไปทำงานตามที่มีผู้ว่าจ้าง ทั้งโจทก์มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ใดที่จะใช้ในกิจการประกอบรถยนต์ รหัสประกอบกิจการและอัตราเงินสมทบของโจทก์ที่ถูกต้องควรเป็นรหัส 1601 ประเภทกิจการด้านธุรกิจ หรือรหัส 1625ประเภทกิจการอาชีพหรือบริการที่มิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นซึ่งมีอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโดยยังมิได้ขอให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัย และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกำหนดให้โจทก์อยู่ในรหัส1004 ต่อมาโจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 ขอให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้มีหนังสือลงวันที่ 20กรกฎาคม 2537 ถึงโจทก์แจ้งว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกำหนดให้โจทก์อยู่ในรหัส 1004 แล้วโจทก์อุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติและแจ้งผลให้โจทก์ทราบแล้ว โดยโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2537ขอให้เพิกถอนคำสั่ง คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนของจำเลยที่ 1 และคำสั่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย2, 4 และ 6 และมีคำสั่งว่าโจทก์อยู่ในประเภทรหัสกิจการ 1601 หรือ1625 ประเภทกิจการบริการงานอาชีพหรือบริการที่ไม่ได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นซึ่งมีอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2
จำเลยทั้งสองให้การว่า สำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสประเภทกิจการให้โจทก์ถูกต้องต้องกฎหมายแล้ว ทั้งโจทก์เคยอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งคณะกรรมการทุนเงินทดแทนได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการกำหนดรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบชอบแล้วโจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือตั้งแต่วันที่ 24พฤศจิกายน 2536 แต่โจทก์มิได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วันโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีฐานะเทียบเท่ากรมโจทก์เคยยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับการกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536ตามสำเนาแบบอุทธรณ์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วมีมติว่า โจทก์อยู่ในรหัสประเภทกิจการ 1004 “การประกอบรถยนต์” อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.6 และรหัสประเภทกิจการอื่น ๆ เพิ่มเติมตามประเภทกิจการของผู้ว่าจ้างโจทก์โดยโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่24 พฤศจิกายน 2536 ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และสำเนาใบตอบรับเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 และ 4แต่โจทก์มิได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 โจทก์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานกองทุนเงินทดแทนว่าการกำหนดรหัสประเภทกิจการดังกล่าวไม่ถูกต้อง โจทก์อยู่ในรหัสประเภทกิจการ 1601 หรือ 1625สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้แจ้งผลการอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 หากโจทก์ไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายใน 30 วัน โจทก์ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และสำนักงานกองทุนเงินทดแทนมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2537 รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือขอให้วินิจฉัยและเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบ สำเนาหนังสือแจ้งกำหนดรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบสำเนาแบบอุทธรณ์ และสำเนาหนังสือแจ้งอุทธรณ์เงินสมทบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 8
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีเนื้อความว่าการกำหนดรหัสประเภทกิจการของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เป็นการอุทธรณ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การวางเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 8มิใช่ข้อ 7 เพราะเป็นกรณีที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง อุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามกฎหมายเพราะโจทก์ยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ชอบและไม่มีผลเป็นการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนั้นกำหนด 30 วันที่ให้ยื่นฟ้องต่อศาลยังไม่เริ่มนับโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 6 ว่า “ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสประเภทกิจการของนายจ้างตามตารางที่ 1 ท้ายประกาศนี้โดยพิจารณาจากประเภทกิจการที่นายจ้างดำเนินกิจการ” และข้อ 23 ว่า”นายจ้างซึ่งไม่พอใจคำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการประเมินเงินสมทบของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตามข้อ 3 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9ข้อ 18 วรรคสอง และข้อ 21 ให้อุทธรณ์คำสั่ง คำวินิจฉัยหรือการประเมินเงินสมทบต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยหรือการประเมินเงินสมทบนั้น”ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว สำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้กำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่พอใจจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้ความว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับการกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 ตามสำเนาแบบอุทธรณ์เอกสารท้ายคำให้การเอกสารหมายเลข 1 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยแล้วมีมติว่า โจทก์อยู่ในรหัสประเภทกิจการ 1004 “การประกอบรถยนต์”อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.6 และรหัสประเภทกิจการอื่น ๆ เพิ่มเติมตามประเภทกิจการของผู้ว่าจ้างโจทก์ โดยโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ และสำเนาใบตอบรับเอกสารท้ายคำให้การเอกสารหมายเลข 3และ 4 การที่โจทก์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยตามข้อ 25ของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนดโดยฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2537โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ตามสำเนาแบบอุทธรณ์ท้ายคำให้การเอกสารหมายเลข 1 เป็นอุทธรณ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 8 นั้น เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ข้อ 8 เป็นกรณีที่ถ้าปรากฎว่ารหัสประเภทกิจการที่กำหนดไว้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยและเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบของนายจ้างให้ตรงกับข้อเท็จจริงเมื่อไม่ปรากฎว่าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการและอัตราเงินสมทบของโจทก์แต่อย่างใดทั้งการอุทธรณ์ตามข้อ 8 ก็ไม่ต้องขอให้จำเลยที่ 1 วินิจฉัยก่อน จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามข้อ 8 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นต่อไป
พิพากษายืน

Share