คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4) ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา 125 และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ก็ให้มีอำนาจให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ คำสั่งชี้ขาดดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าให้ถึงที่สุด คู่ความที่ไม่พอใจคำสั่งนั้น จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลแรงงานให้วินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวชอบหรือไม่อีกได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8(4) หากศาลแรงงานเห็นว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ จำเลยที่ ๑ กระทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ กล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ประกอบเป็นคณะกรรมการฯ ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และมาตรา ๑๒๓ แล้วมีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานกับโจทก์ต่อไป คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ให้การว่ามิได้กระทำผิดดังที่โจทก์กล่าวหา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ให้การว่า ข้อวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ชอบฝ่าฝืนระเบียบวินัยจะเป็นตัวอย่างไม่ดี จึงให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ แทนการรับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงาน พิพากษาให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑แต่ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งหมดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑(๔) ได้ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา ๑๒๕ และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ ซึ่งคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติว่าให้ถึงที่สุด คู่ความที่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลแรงงานให้วินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวชอบหรือไม่ได้อีกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๘(๔) และเมื่อศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมประการใดศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมได้ เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความเห็นของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานแต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีวินัย ชอบฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หากจะให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ระดับหัวหน้าทำงานกับโจทก์ต่อไปอีกจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทำให้โจทก์ปกครองลูกจ้างอื่นยากยิ่งขึ้น โจทก์และจำเลยที่ ๑ จะมีแต่ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันตลอดเวลา ไม่เป็นผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแทนการรับจำเลยที่ ๑กลับเข้าทำงานได้ไม่เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share