คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนการที่จำเลยกรอกข้อความในตราสารการโอนหุ้นซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่ได้รับคำสั่งหรือความยินยอมของโจทก์ และโอนหุ้นของโจทก์ที่มิได้สั่งขายไปเป็นของบุคคลอื่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และโจทก์มิได้เสียหายทั้งไม่ปรากฏว่าอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยทำตราสารการโอนหุ้นขึ้นเองทั้งฉบับโอนขายหุ้นของโจทก์ไปโดยโจทก์มิได้เสียหาย ถึงแม้โจทก์จะมิได้สั่ง หรือให้ความยินยอม จำเลยก็มิได้ทำปลอมเอกสารของผู้ใด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์สั่งให้จำเลยซื้อหุ้น 2,000 หุ้น ต่อมาจำเลยขายหุ้นนั้น 1,000 หุ้นตามคำสั่งของโจทก์ ที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่ามีการขายหุ้นของโจทก์ไป 2,000 หุ้น เป็นเรื่องทางปฏิบัติในการซื้อขายหุ้นโดยจำเลยจะนำหุ้นของโจทก์ไปโอนให้แก่บุคคลอื่นก่อน เมื่อโอนแล้วจำเลยก็ได้รับรองหุ้นของโจทก์ที่เหลืออยู่ทั้งต่อมาโจทก์ก็ได้รับหุ้น 1,000 หุ้นไปจากจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต แม้จะดำเนินการโอนหุ้นไปโดยพลการก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1ซื้อขายหุ้นและเก็บรักษาใบหุ้นไว้แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะออกเงินทดรองซื้อหุ้นแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้ค่านายหน้าและดอกเบี้ย โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จำนวน 2,000 หุ้น จำเลยร่วมกันฉ้อโกงโจทก์โดยแจ้งว่าได้ซื้อหุ้นให้ตามคำสั่งแล้ว โจทก์หลงเชื่อจึงได้ชำระเงินค่าดอกเบี้ยให้แก่จำเลย ความจริงจำเลยเพิ่งซื้อหุ้นให้โจทก์ภายหลังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาโจทก์สั่งให้จำเลยขายหุ้น 1,000 หุ้นปรากฏว่าจำเลยขายหุ้นของโจทก์ไป 2,000 หุ้น แสดงว่าจำเลยร่วมกันยักยอกเอาหุ้นของโจทก์ 1,000 หุ้นไปขายเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยจำเลยร่วมกันปลอมเอกสารตราสารการโอนหุ้นจำนวน 10 ฉบับ เพื่อแสดงว่า โจทก์ได้โอนหุ้นจำนวนอีก 1,000 หุ้นให้บุคคลอื่น เพื่อขายรวมไปกับหุ้น1,000 หุ้นที่โจทก์สั่งขาย และจำเลยร่วมกันปลอมตราสารการโอนหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด 3 ฉบับ แสดงว่าโจทก์ขายหุ้น 1,000 หุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยนำไปใช้แสดงต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดเพื่อจดทะเบียนหุ้น โดยโจทก์ไม่เคยสั่งให้จำเลยซื้อหรือขายหุ้นดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 352, 353, 354,264, 265, 266, 268, 83, 40 พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ฯมาตรา 42 และห้ามจำเลยประกอบอาชีพการค้าหลักทรัพย์ต่อไป

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266, 268 และ 354

จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยร่วมกันกรอกข้อความในตราสารการโอนหุ้นซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่ได้รับคำสั่งหรือความยินยอมจากโจทก์ และโอนหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ของโจทก์ที่มิได้สั่งขายจำนวน1,000 หุ้นไปเป็นของบุคคลอื่น ก็เพื่อนำไปทำการโอนหุ้นตามทางที่ปฏิบัติกันในการซื้อขายหุ้นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตและโจทก์มิได้เสียหายการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน เมื่อจำเลยกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์ และโจทก์มิได้เสียหาย ทั้งไม่ปรากฏว่าอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266และ 268

ปรากฏว่าจำเลยร่วมกันทำตราสารการโอนหุ้น โอนขายหุ้นของโจทก์ไปโดยโจทก์มิได้สั่งหรือให้ความยินยอม เอกสารดังกล่าวจำเลยทำขึ้นเองทั้งฉบับและโจทก์มิได้เสียหาย ดังนี้ เมื่อจำเลยทำเอกสารขึ้นเองทั้งฉบับ ถึงแม้โจทก์จะมิได้สั่งหรือให้ความยินยอม แต่จำเลยก็มิได้ทำปลอมเอกสารของผู้ใด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266 และ 268

ปรากฏว่าเมื่อโจทก์สั่งขายหุ้น 1,000 หุ้น ก็ยังเหลือหุ้นอีก 1,000 หุ้นที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่ามีการขายหุ้นของโจทก์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2522 จำนวน 1,500 หุ้น และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 อีกจำนวน 500 หุ้นเป็นเรื่องทางปฏิบัติในการซื้อขายหุ้น โดยจำเลยที่ 1 จะนำหุ้นไปโอนให้แก่บุคคลอื่นก่อน และเมื่อโอนแล้วจำเลยที่ 1 ก็ได้รับรองหุ้นของโจทก์ที่เหลืออยู่ซึ่งโจทก์ได้รับเงินปันผลไปตามสิทธิของตน ทั้งต่อมาก็ได้รับหุ้นจำนวน1,000 หุ้นไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะดำเนินการโอนหุ้นไปโดยพลการ ก็ไม่มีเจตนาทุจริต ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1มิได้กระทำโดยทุจริต ย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354

พิพากษายืน

Share