แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่นาซึ่งไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน เมื่อเจ้าของขายและมอบการครอบครองให้โจทก์แล้ว โจทก์ก็ได้สิทธิครอบครองในที่นั้น ไม่ใช่โจทก์ได้สิทธิครอบครองโดยการแจ้งการครอบครอง
จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2503 แต่เมื่อที่พิพาทที่จำเลยเช่ามีเนื้อที่เพียง 40 ไร่ และอยู่ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 และพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 9(2) กำหนดให้สัญญาเช่ามีอายุต่อไปอีก 5 ปีในเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าต่อไป เมื่อจำเลยยังคงยึดถือครอบครองนาพิพาทต่อมา ก็ต้องถือว่าจำเลยประสงค์จะเช่าต่อไป สัญญาเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีอายุต่อไป 5 ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2507 เมื่อถือว่าจำเลยเช่านาจากโจทก์ตลอดมา กรณีเป็นเรื่องจำเลยยึดถือครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ในฐานะผู้เช่า จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2503 และสัญญาเช่ามีอายุต่อไปจนถึง พ.ศ. 2507 ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 มาตรา (2) แม้สัญญาเช่าจะมิได้ทำเป็นหนังสือ จำเลยก็ต้องชำระค่าเช่านาในปีการเช่าดังกล่าวให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 มาตรา 12
เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยมีอายุเพียงสิ้น พ.ศ. 2507 การที่จำเลยยังคงทำนาพิพาทตลอดมา ต้องถือว่าจำเลยเข้าทำโดยละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะขอให้จำเลยชำระค่าเช่าจนกว่าจำเลยจะเลิกทำนา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ค่าเช่าที่โจทก์ฟ้องเรียกตั้งแต่วันที่โจทก์จำเลยไม่มีสัญญาเช่าผูกพันต่อกันนั้นก็คือค่าเสียหายนั่นเอง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ได้ (อ้างฎีกา 857-859/2503)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่นา ตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ ๔๙/๒๕๐๑ เนื้อที่ ๗๕๐ ไร่ จำเลยเช่านาโจทก์ดังกล่าวทำ จำเลยไม่ชำระค่าเช่า ได้โต้แย้งในการที่โจทก์นำรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัด ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าเช่า ฯลฯ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเช่านาพิพาทจากโจทก์ จำเลยซื้อจากผู้มีชื่อครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ฯลฯ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยเช่าจากโจทก์ โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือกับจำเลย พิพากษาว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นาพิพาทตกอยู่ในความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๒ แม้การเช่าจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยก็ต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่า พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างเป็นข้าวเปลือก ๒๐๐ ถัง หรือคิดเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท และค่าเช่าในอัตราเดียวกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ จนกว่าจำเลยจะเลิกทำนาโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ที่พิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครอง และเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่นาซึ่งไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน เมื่อเจ้าของนาขายให้โจทก์ และมอบการครอบครองให้โจทก์แล้ว โจทก์ก็ได้สิทธิครอบครอง ไม่ใช่โจทก์ได้สิทธิครอบครองโดยการแจ้งการครอบครอง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อที่พิพาทที่จำเลยเช่ามีเพียง ๔๐ ไร่ อยู่ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ และพระราชบัญญัตินี้มาตรา ๙(๒) กำหนดให้สัญญาเช่ามีอายุต่อไปอีก ๕ ปีในเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าต่อไป ฉะนั้น เมื่อจำเลยยังคงยึดถือครอบครองนาพิพาทต่อมา ก็ต้องถือว่าจำเลยประสงค์จะเช่าต่อไป ฉะนั้น สัญญาเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีกำหนดอายุต่อไป ๕ ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อถือว่าจำเลยเช่านาจากโจทก์ตลอดมา กรณีเป็นเรื่องจำเลยยึดถือครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ในฐานะผู้เช่า จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ และสัญญาเช่ามีอายุต่อไปจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๙(๒) แม้สัญญาเช่าจะมิได้ทำเป็นหนังสือ จำเลยก็ต้องชำระค่าเช่านาในปีการเช่าดังกล่าวให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๒ ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และตลอดไปจนกว่าจำเลยจะเลิกทำนาพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า
เมื่อวินิจฉัยว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยมีอายุเพียงสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๐๗ การที่จำเลยยังคงทำนาพิพาทตลอดมาต้องถือว่าจำเลยเข้าทำโดยละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะขอให้จำเลยชำระค่าเช่าจนกว่าจำเลยจะเลิกทำนาพิพาทก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าค่าเช่าที่โจทก์ฟ้องเรียกตั้งแต่วันที่โจทก์จำเลยไม่มีสัญญาเช่าผูกพันต่อกันแล้วก็คือค่าเสียหายนั่นเอง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ได้ (อ้างฎีกาที่ ๘๕๗-๘๕๙/๒๕๐๓)
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเช่าที่ค้างชำระ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นข้าวเปลือก ๒๐๐ ถัง หรือคิดเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท กับค่าเช่าและค่าเสียหายเป็นข้าวปีละ ๒๐๐ ถัง หรือคิดเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ ตลอดไปจนกว่าจำเลยจะเลิกทำนาโจทก์
พิพากษายืน.