แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมหรือไม่เท่านั้น โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมมีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่เพราะได้ขายกิจการให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของสถานที่เช่าและโจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองจะฎีกาอ้างเหตุใหม่ในชั้นฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนและใช้สิทธิบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบสถานที่เช่าคืนโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เพราะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรก็ไม่รับวินิจฉัยให้ได้ คดีก่อนบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าสถานที่บริเวณโรงแรมโดยปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรม ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย เป็นค่าตกแต่งสถานที่และค่าขาดรายได้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนฟ้องแย้งในคดีนี้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งว่าสัญญาเช่าสถานที่ซึ่งเป็นที่เดียวกับคดีก่อนระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งใช้ดำเนินกิจการเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวด ถ้าต้องย้ายออกไปจะเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้สถานที่คำนวณเป็นเงิน2,000,000 บาท ดังนั้น คดีนี้และคดีก่อนจึงมีประเด็นที่อ้างว่ามีการผิดสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายเป็นมูลเหตุเดียวกันฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทเอส.วี.จำกัด โจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ จำเลยที่ 1 ในนาม”รามาโซน่า” (ร้านบาร์เบอร์ชอป) ได้เช่าสถานที่ในบริเวณชั้น 2ของโรงแรมรามาทาวเวอร์ จากบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมในขณะนั้นโดยจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการอาบอบนวดตัดผม ณ สถานที่เช่าดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการ”รามาโซน่า บาร์เบอร์” ในนามของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2เข้าครอบครองและประกอบกิจการในสถานที่เช่าดังกล่าว สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2524 ในวันทำสัญญาเช่านั้นเองบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างทำของโดยบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ผู้ให้เช่ารับเป็นผู้จัดหาบริการเครื่องปรับอากาศให้ผู้เช่าโดยมีอายุสัญญาเท่ากับสัญญาเช่าทุกประการ ในอัตราค่าบริการเดือนละ 25,680 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเช่าและค่าบริการเดือนละ 31,680 บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดจำเลยทั้งสองยังคงเช่าสถานที่เช่าต่อไป ต่อมาในเดือนเมษายน2527 บริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและผู้เช่าสถานที่ภายในบริเวณโรงแรมรามาทาวเวอร์ทราบว่าโจทก์ได้รับโอนกิจการโรงแรมมาทั้งหมดจากบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ให้จำเลยทั้งสองส่งเงินค่าเช่าและค่าบริการให้โจทก์โดยตรง จำเลยได้รับการแจ้งแล้ว และได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราค่าเช่าเดิมตามสัญญาเช่าที่ทำไว้แก่บริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ตลอดมา ในเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์ตกลงกับจำเลยว่าตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2527 โจทก์จะเก็บค่าเช่าจากจำเลยเพียงร้อยละ 70 และตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2527 โจทก์จะลดค่าเช่าลงอีกร้อยละ 40โดยเรียกเก็บเพียงร้อยละ 60 จำเลยจึงต้องชำระค่าเช่าและค่าบริการเดือนละ 19,008 บาท แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าหากจำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์จะเก็บค่าเช่าในอัตราเดิมคือเดือนละ 31,680 บาท ต่อมาในเดือนตุลาคม 2527 จำเลยได้ปิดกิจการของตนโดยไม่ได้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้โจทก์ และยังค้างค่าเช่า ค่าบริการ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2527 เป็นเงินทั้งสิ้น 104,869.60 บาท โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทั้งสองออกจากที่เช่าและส่งมอบที่เช่าแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากสถานที่เช่า ให้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนโจทก์ ให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่และกิจการของโรงแรมรามาทาวเวอร์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่เคยเช่าสถานที่บริเวณของโรงแรมรามาทาวเวอร์จากโจทก์ แต่ได้เช่าจากบริษัทรามาทาวเวอร์จำกัด จำเลยที่ 1 ไม่เคยดำเนินกิจการอาบอบนวดที่มีชื่อว่ารามาโซน่าในฐานะส่วนตัวโจทก์เข้ามารับโอนกิจการของบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ ที่จำเลยทั้งสองยอมชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์นั้นก็เป็นเพราะโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของ จนบัดนี้จำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าสถานที่เช่านี้เป็นของผู้ใดแน่ ที่โจทก์อ้างว่าในเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าจะลดค่าเช่าจากเดิมเหลือเพียงร้อยละ 70 หรือ 60 นั้น เป็นเพราะกิจการของโจทก์ไม่ดี โจทก์กำลังจะเลิกกิจการต้องการจะให้ผู้เช่าสถานที่จ่ายค่าเช่าให้ก่อนเพื่อจะได้นำเงินไปใช้ แต่โจทก์เองปฏิบัติไม่ได้ เพราะการเก็บค่าเช่าของโจทก์ โจทก์จะต้องออกใบแจ้งหนี้มาให้ทราบก่อนและการจะออกใบแจ้งหนี้ได้โจทก์จะต้องรอทราบตัวเลขจากค่าน้ำและค่าไฟฟ้า การเก็บเงินค่าเช่าจึงไม่เคยปฏิบัติกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะจ่ายเป็นรายเดือนเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่า จึงไม่เป็นความจริงจำเลยไม่เคยปิดกิจการของตนในเดือนตุลาคม 2527 เพราะเหตุไม่มีเงินค่าเช่าชำระให้โจทก์ แต่ต้องปิดกิจการเพราะโจทก์ได้ปิดกิจการโรงแรมลงโดยไม่บอกให้จำเลยผู้เช่าสถานที่ทราบก่อน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการปิดกิจการของโจทก์เช่นนั้นเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528ของศาลชั้นต้นขณะนี้โจทก์ก็ยังไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าโจทก์ ขณะนี้จำเลยยังอยู่ในสถานที่เช่าโดยคำพิพากษาของศาลซึ่งพิพากษาว่า โจทก์ได้กระทำผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 2 โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาเสียก่อนและหลังจากนั้นหากจำเลยไม่ยอมขนย้ายออกไปโจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ แต่ขณะนี้โจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ได้บอกกล่าวใหม่เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529 ก็ตาม ก็เป็นการบอกกล่าวโดยไม่ชอบ เพราะเป็นการบอกกล่าวหลังจากศาลพิพากษาคดีดังกล่าวไปแล้ว และคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ สัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2523 เอกสารท้ายฟ้องซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ถือปฏิบัติกันมาจนถึงวันที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายตามคดีหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา เพราะได้กำหนดหน้าที่ของผู้เช่าเอาไว้หลายอย่าง ยิ่งกว่าการเช่าสถานที่โดยทั่ว ๆ ไปนอกจากนี้สัญญาเช่ายังได้ระบุด้วยว่าถ้าจำเลยไม่ได้ผิดนัดชำระค่าเช่า จำเลยมีสิทธิจะได้เช่าทำการค้าต่อไปโดยไม่มีกำหนด เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องขับไล่จำเลย โจทก์คงมีสิทธิแต่เพียงจะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระเท่านั้น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะทำให้จำเลยไม่อาจใช้ทรัพย์ที่เช่านั้นอีกต่อไป จำเลยที่ 2 จึงขอฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ดังนี้คือจำเลยที่ 2 ได้ตกแต่งสถานที่เช่าเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวดตามมาตรฐานของสากลโลก เพื่อต้อนรับแขกชาวต่างประเทศ และบุคคลชั้นนำของประเทศ มีห้องอาบอบนวด 8 ห้อง ห้องอบ 1 ห้อง ห้องออกกำลังกาย1 ห้อง ห้องตัดผมเป็นห้องใหญ่ตกแต่งด้วยหินอ่อนจากต่างประเทศมีเก้าอี้ตัดผมอย่างดี 7 ห้อง และมีห้องรับรองแขกชนิดพิเศษด้วยจำเลยได้ตกแต่งไว้เมื่อมาเช่า โดยได้ตกแต่งครั้งแรกในปี 2514เป็นเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเกือบ 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 2จะต้องตกแต่งเพิ่มเติมหรือดัดแปลงให้ทันสมัยอยู่เสมอตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2527 โดยจำเลยที่ 2 มุ่งหวังที่จะได้เช่าดำเนินกิจการค้าตลอดไปเป็นเวลาอีกไม่น้อยกว่า 10 หรือ 20 ปี แต่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยโดยจำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าหรือเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สถานที่เช่าประกอบการค้าต่อไปเป็นเงิน 2,000,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ไม่ได้ใช้สถานที่เช่าตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในฟ้องแย้งนี้ก็คือค่าเสียหายและค่าขาดรายได้จากการค้าตามฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นนั้นเอง จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานที่เช่าและให้ส่งสถานที่เช่าคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบห้องพิพาทคืนตามหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 เอกสารหมายจ.9 โดยไม่สุจริต เพราะก่อนนั้นคือ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2527โจทก์ได้ปิดประตูโรงแรมรามาทาวเวอร์ และปิดกิจการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าห้องพิพาทจำเลยได้ดำเนินคดีฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญา ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์คดีนี้ใช้ค่าเสียหาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมรามาทาวเวอร์หรือไม่เท่านั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมดังกล่าวมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่เพราะได้ขายกิจการให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องพิพาท และโจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองจะฎีกาอ้างเหตุใหม่ในชั้นฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน และใช้สิทธิบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบห้องคืนโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เพราะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อต่อไปว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรรับวินิจฉัยให้
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องแย้งที่ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528ของศาลชั้นต้นนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่25007/2528 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอส.วี. จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ เป็นจำเลยอ้างว่า บริษัทเอส.วี. จำกัดผิดสัญญาเช่า ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งขอเรียกเป็นเงินจำนวน 2,400,000 บาท ค่าขาดรายได้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 600,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งในคดีนี้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าห้องพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งใช้ดำเนินกิจการเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวด ถ้าต้องย้ายออกไปจะเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้สถานที่ คำนวณเป็นเงิน 2,000,000 บาท ดังนั้น คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น จึงมีประเด็นที่อ้างว่ามีการผิดสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายเป็นมูลเหตุเดียวกัน ฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)”
พิพากษายืน