คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรม ร. มีอำนาจฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่เพราะขายกิจการให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องพิพาทและมีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุใหม่ในชั้นฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน และใช้สิทธิบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบห้องคืนโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรรับวินิจฉัยให้ คดีก่อนจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่าผิดสัญญาเช่า ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรม ร. ทำให้โจทก์(จำเลยที่ 2 คดีนี้) เสียหาย เป็นค่าตกแต่งสถานที่ เป็นเงินจำนวน2,400,000 บาท ค่าขาดรายได้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 600,000 บาทคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งว่าสัญญาเช่าห้องพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งใช้ดำเนินกิจการเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวด ถ้าต้องย้ายออกไปจะเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้สถานที่ คำนวณเป็นเงิน 2,000,000 บาท ดังนั้น คดีนี้และคดีก่อนจึงมีประเด็นที่อ้างว่ามีการผิดสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายเป็นมูลเหตุเดียวกัน ฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกับฟ้องที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ในนาม”รามาโซน่า” (ร้านบาร์เบอร์ชอป)ได้เช่าสถานที่ในบริเวณชั้น 2 ของโรงแรมรามาทาวเวอร์ มีเนื้อที่ประมาณ 240 ตารางเมตร จากบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมในขณะนั้น โดยจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการอาบอบนวดตัดผม ณ สถานที่เช่าดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการ”รามาโซน่า บาร์เบอร์” ในนามของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองและประกอบกิจการในสถานที่เช่าดังกล่าวสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่า ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่เช่าและส่งมอบที่เช่าแก่โจทก์ กับทวงถามให้จำเลยส่งมอบสถานที่เช่าและชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ตลอดจนค่าบริการเครื่องปรับอากาศ และค่าไฟฟ้าหลายครั้งแต่จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากสถานที่เช่าให้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนโจทก์ ให้ชำระเงินจำนวน 104,869.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่และกิจการของโรงแรมรามาทาวเวอร์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้ปิดกิจการโรงแรมลงอย่างกะทันหันโดยไม่บอกให้จำเลยผู้เช่าสถานที่ทราบก่อน เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการปิดกิจการของโจทก์เช่นนั้นเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะทำให้จำเลยไม่อาจใช้ทรัพย์ที่เช่านั้นอีกต่อไป จำเลยที่ 2 จึงขอฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ดังนี้คือ จำเลยที่ 2 ได้ตกแต่งสถานที่เช่าเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวดตามมาตรฐานของสากลโลก เพื่อต้อนรับแขกชาวต่างประเทศและบุคคลชั้นนำของประเทศ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สถานที่เช่าประกอบการค้าต่อไปเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ไม่ได้ใช้สถานที่เช่าตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในฟ้องแย้งนี้ก็คือค่าเสียหายและค่าขาดรายได้จากการค้าตามฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นนั่นเอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานที่เช่าและให้ส่งสถานที่เช่าคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ค้างแก่โจทก์จำนวน 89,029 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบห้องพิพาทคืนตามหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 เอกสารหมาย จ.9โดยไม่สุจริต เพราะก่อนนั้นคือ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2527 โจทก์ได้ปิดประตูโรงแรมรามาทาวเวอร์และปิดกิจการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า60 วัน ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าห้องพิพาท จำเลยได้ดำเนินคดีฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญา ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์คดีนี้ใช้ค่าเสียหาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมรามาทาวเวอร์หรือไม่เท่านั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของสถานที่และกิจการโรงแรมดังกล่าวมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสถานที่เพราะได้ขายกิจการให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้องพิพาท และโจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองจะฎีกาอ้างเหตุใหม่ในชั้นฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน และใช้สิทธิบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบห้องคืนโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เพราะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อต่อไปว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้นขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรรับวินิจฉัยให้
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องแย้งที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528ของศาลชั้นต้น นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอส.วี. จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยอ้างว่า บริษัทเอส.วี. จำกัดผิดสัญญาเช่า ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งขอเรียกเป็นเงินจำนวน 2,400,000 บาท ค่าขาดรายได้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน600,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนฟ้องแย้งในคดีนี้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าห้องพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นค่าตกแต่งสถานที่ซึ่งใช้ดำเนินกิจการเป็นร้านตัดผมและอาบอบนวด ถ้าต้องย้ายออกไปจะเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้สถานที่ คำนวณเป็นเงิน 2,000,000 บาท ดังนั้น คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น จึงมีประเด็นที่อ้างว่ามีการผิดสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายเป็นมูลเหตุเดียวกันฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25007/2528 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โดยสรุป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองบางข้อ ส่วนฎีกาที่รับวินิจฉัยให้ก็ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share