แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของจำเลย การที่โจทก์มีอำนาจออกคำเตือนพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหนังสือและพนักงานที่ถูกคำเตือน 3 ครั้ง จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็ตาม แต่เมื่อหนังสือเตือนไม่ใช่โทษ เป็นเพียงมีผลให้ผู้ถูกคำเตือนอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากผู้มีอำนาจในการนี้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการลงโทษ และแม้โจทก์จะเป็นผู้เสนอขอเลื่อนเงินเดือน 2 ขั้นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ก็มิใช่เป็นผู้มีอำนาจที่จะเลื่อนชั้นเงินเดือน 2 ขั้น จึงถือไม่ได้อีกว่าโจทก์มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการให้บำเหน็จ ส่วนกรณีที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวแทนในการจ้างลูกจ้างนั้น โจทก์ต้องมีอำนาจทำการแทนนายจ้างโดยตรง มิใช่เป็นกรณีผ่านการพิจารณาโดยผู้มีอำนาจมาก่อนซึ่งผู้มีอำนาจในการรับลูกจ้างเข้าทำงานนี้ได้แก่คณะกรรมการของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้างดังนั้น โจทก์มิใช่ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่ทำการแทนนายจ้าง ตามข้อ 36(1)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ และมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1677-1678/2526)
เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด การที่จำเลยมีระเบียบกำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด จึงเป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติไม่มีผลบังคับ
โจทก์เบิกค่าทำงานในวันหยุด จำเลยให้โจทก์คืนเงินโดยอ้างว่าเบิกไม่ถูกต้อง โจทก์จึงคืนเงินนั้นแก่จำเลย ดังนี้ กรณีมิใช่เป็นเรื่อง จงใจผิดนัดในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 31 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่คืนไป จำเลยตอบปฏิเสธ ถือได้ว่า จำเลยผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบห้า ต่อปีตามข้อ 31 วรรคแรก นับแต่วันที่ จำเลยตอบปฏิเสธ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อครั้งที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสำโรง จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดชดเชยหนึ่งวันโจทก์เบิกค่าทำงานในวันหยุด ๓๙๐.๕๐ บาท ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน ๓๙๐.๕๐ บาท โดยอ้างว่าโจทก์เบิกไม่ถูกต้องตามระเบียบ โจทก์มีสิทธิเบิกค่าทำงานในวันหยุดเพียงวันละ ๑๐๐ บาท โจทก์ได้ชดใช้เงินจำนวน๒๙๐.๕๐ บาท ตามคำสั่งของจำเลย ต่อมาสหภาพแรงงานธนาคารออมสินได้มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดที่ค้าง ๒๙๐.๕๐ บาท ให้โจทก์ จำเลยได้มีหนังสือตอบปฏิเสธ ซึ่งเป็นการผิดนัดจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและจงใจผิดนัดการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีและจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันผิดนัด ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าทำงานในวันหยุดที่ค้างจ่ายให้โจทก์ ๒๙๐.๕๐ บาท ดอกเบี้ยผิดนัดการจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ๖๕.๑๘ บาท เงินเพิ่มการผิดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร๓,๓๙๘.๘๖ บาท รวม ๓,๗๕๔.๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีและเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จของจำนวนเงิน ๓,๗๕๔.๑๔ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดไว้ว่า ผู้จัดการสาขาไม่มีสิทธิเบิกเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด โดยให้ผู้จัดการสาขามีสิทธิเบิกเงินเมื่อทำงานในวันหยุดประเภทที่เรียกว่า”ค่าควบคุมการปฏิบัติงาน” โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าควบคุมการปฏิบัติงานได้เพียง๑๐๐ บาท เท่านั้น และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ ๓๖ ผู้จัดการเพียงแต่มีอำนาจหน้าที่ “ที่ทำการแทนนายจ้าง” ในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา การที่จำเลยไม่จ่ายเงินจำนวน ๒๙๐.๕๐ บาทมิได้เป็นการจงใจผิดนัด แต่มีเหตุผลทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวมาแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มใด ๆ แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจลงโทษลูกจ้างแทนนายจ้าง มีอำนาจในการให้บำเหน็จแก่ลูกจ้าง มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับการจ้างตามความหมายของข้อ ๓๖(๑) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ นอกจากนี้ ผู้จัดการสาขาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสาขามีหน้าที่ควบคุมบริหารและดูแลกิจการทรัพย์สินของสาขาต้องรับผิดชอบหรือมีอำนาจสั่งการได้ทั้งในหรือนอกเวลาทำงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา ถ้าให้ผู้จัดการสาขามีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดแล้ว ก็จะเรียกร้องได้ไม่มีที่สิ้นสุด กรณีจึงต้องห้ามตามวัตถุประสงค์ของข้อ ๓๖(๑)ที่กำหนดให้พนักงานประเภทนี้ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๓๙, ๔๐ ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด แต่มีข้อยกเว้นในข้อ ๔๓ ว่า “ลูกจ้างตามข้อ ๓๖(๑) ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ ๓๙ หรือ ๔๐ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้”
ส่วนลูกจ้างตามข้อ ๓๖(๑) นั้น ได้แก่ลูกจ้างที่ได้บัญญัติไว้ดังนี้
“ข้อ ๓๖ ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ ๓๔ ข้อ ๔๒
(๑) งานที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์
ฯลฯ
โจทก์มีอำนาจออกคำเตือนเป็นหนังสือ เมื่อลูกจ้างไม่มีผลงานหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ผลของคำเตือนคือ ลูกจ้างที่ถูกคำเตือน ๓ ครั้ง จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนแม้แต่ขั้นเดียว ลูกจ้างที่มาทำงานสายหรือขาดงานโจทก์ออกคำเตือนเป็นหนังสือได้เห็นว่า การออกหนังสือเตือนไม่ใช่โทษ เป็นเพียงการกระทำที่มีผลให้พนักงานผู้ถูกตักเตือนเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากผู้มีอำนาจในการให้ขึ้นเงินเดือนหรือบำเหน็จแก่พนักงานเท่านั้น และหากเป็นการลงโทษ ผู้จัดการสาขาก็ไม่มีอำนาจโดยตรง ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยพนักงานคณะกรรมการพิจารณากำหนดโทษแล้วทำความเห็นเสนอผู้อำนวยการวินิจฉัยสั่งการจึงถือไม่ได้ว่าผู้จัดการสาขามีอำนาจทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการลงโทษ ส่วนกรณีโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขามีอำนาจเสนอขอให้เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ๒ ขั้นนั้นจะเห็นได้ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีข้อความว่า “ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นขอให้สองขั้น แต่ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น” ดังนี้เห็นว่าโจทก์เป็นแต่ผู้เสนอขอเงินเดือนให้แก่พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น มิใช่เป็นผู้มีอำนาจที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือน ๒ ขั้น ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีให้บำเหน็จโดยตรงตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๗๗-๑๖๗๘/๒๕๒๖ สหภาพแรงงานธนาคารออมสิน โจทก์ธนาคารออมสิน จำเลย สำหรับกรณีการจ้างชั่วคราวซึ่งผู้จัดการสาขาเป็นตัวแทนจำเลยในการจ้างลูกจ้างนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ ๓๖(๑) ว่า “งานที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง” ข้อความที่ว่า “มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง” หมายความว่ามีอำนาจทำการแทนนายจ้างโดยตรง มิใช่เป็นกรณีผ่านการพิจารณาโดยผู้มีอำนาจมาก่อนซึ่งผู้มีอำนาจในการรับลูกจ้างเข้าทำงานนี้ได้แก่คณะกรรมการของจำเลย ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสินฯ มาตรา ๑๗ วรรคแรก บัญญัติว่า “การแต่งตั้งพนักงานตามจำเป็นแก่ธุรกิจของธนาคารออมสิน ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ”ดังนี้ ผู้จัดการสาขาจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้างการทำสัญญาจ้างแทนจำเลยนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการอนุมัติรับเข้าทำงานแล้ว ด้วยเหตุดังวินิจฉัยจึงเห็นว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างตามความหมายในข้อ ๓๖(๑) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ อนึ่ง แม้จะปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบกำหนดให้พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้าแผนกขึ้นไปหรือผู้จัดการสาขา ไม่มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดก็ตาม แต่ก็เป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติ ย่อมไม่มีผลบังคับโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด กรณีไม่ต้องห้ามตามข้อ ๔๓๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
โจทก์ได้ทำงานในวันหยุดหนึ่งวัน และได้เบิกค่าทำงานในวันหยุด ๓๙๐.๕๐ บาทจำเลยให้โจทก์ชดใช้เงิน ๒๙๐.๕๐ บาท โดยอ้างว่าการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง โจทก์ได้ชดใช้เงิน ๒๙๐.๕๐ บาท ตามคำสั่งของจำเลย ต่อมาสหภาพแรงงานธนาคารออมสินได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดที่ค้างจ่าย ๒๙๐.๕๐ บาทแต่จำเลยตอบปฏิเสธ เห็นว่า โจทก์ได้ทำงานในวันหยุดหนึ่งวัน และได้เบิกค่าทำงานในวันหยุด ๓๙๐.๕๐ บาทไปเรียบร้อยแล้ว กรณีมิใช่เรื่องจงใจผิดนัดการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๓๑ วรรคสองแต่ประการใด เหตุที่จำเลยให้โจทก์ชดใช้เงิน ๒๙๐.๕๐ บาท และโจทก์ชดใช้ให้นั้นก็โดยเห็นว่าโจทก์เบิกไม่ถูกต้องตามระเบียบเพราะโจทก์ควรมีสิทธิเบิกได้เฉพาะเงินค่าควบคุมการปฏิบัติงาน ๑๐๐ บาทเท่านั้น ครั้นสหภาพแรงงานธนาคารออมสินได้มีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดที่ค้างจ่ายให้โจทก์ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๖ ตอบปฏิเสธ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินซึ่งเป็นค่าทำงานในวันหยุดค้างจ่ายที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืน เมื่อจำเลยไม่ยอมคืนถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีตามข้อ ๓๑ วรรคแรก แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่ค้างจ่ายจำนวน ๒๙๐.๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย