คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงร่วมกันว่าที่พิพาทมีราคา 200,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 200,000 บาทซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวศาลชั้นต้นจะให้โจทก์หาราคาประเมินที่พิพาทเพื่อคำนวณทุนทรัพย์ของคดีใหม่ในชั้นฎีกาแทนทุนทรัพย์เดิมหาได้ไม่ เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายขำ หมั่นนอก กับนางจอยวิริยาสุวรรณ์ นายขำกับนางจอยอยู่กินเป็นสามีภรรยากันก่อนปี พ.ศ. 2478 มีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งโจทก์ด้วย ระหว่างมีชีวิตนายขำมีที่นา 1 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เนื้อที่ 48 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา นายขำถึงแก่กรรมเมื่อปีพ.ศ. 2508 ที่นาดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกได้แก่นางจอยและบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์ นางจอยและทายาทอื่นทุกคนได้ร่วมกันครอบครองทำกินในที่นาดังกล่าวตลอดมา เมื่อพี่น้องของโจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปหากินที่อื่นได้มอบที่นาดังกล่าวให้โจทก์และนางจอยครอบครองแทน ประมาณปี พ.ศ. 2521 ถึง 2526 จำเลยได้ชวนนายสุทินสามีโจทก์ไปทำงานเป็นกรรมกรที่ประเทศสิงค์โปร์ อ้างว่ามีรายได้ดีจำเลยสามารถส่งไปได้แต่ต้องเสียค่าบริการให้จำเลย 20,000 บาทโจทก์และนายสุทินหลงเชื่อตกลงไปทำงานกับจำเลยแต่ไม่มีเงินค่าบริการ จำเลยจึงรับจะออกค่าบริการให้ โดยให้นางจอยมารดาโจทก์ทำสัญญากู้เงินจำนวน 20,000 บาท และมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อจำเลยส่งนายสุทินไปทำงานที่ประเทศสิงค์โปร์แล้ว ปรากฏว่านายสุทินถูกจับและถูกจำคุกในข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต นายสุทินจึงไม่มีเงินส่งมาชำระหนี้ให้จำเลยตามที่ตกลงโจทก์และนางจอยไปขอผ่อนเวลากับจำเลย จำเลยยอมให้ผ่อนเวลาได้แต่ต้องเอาที่นาดังกล่าวไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยนางจอยตกลงแต่เนื่องจากที่นาติดจำนองสหกรณ์การเกษตรคงสามัคคีจำกัด อยู่เป็นเงิน 48,000 บาท จำเลยตกลงออกเงินทดรองไถ่ถอนจำนองให้ก่อนแล้วให้โจทก์กับนางจอยชำระคืนภายหลัง ดังนั้นนางจอยจึงไปขอไถ่ถอนจำนองและขายฝากที่นาให้จำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2529ต่อมาทายาทโจทก์ทราบเรื่องได้นำเงินไปชำระให้จำเลยบางส่วนเป็นเงิน24,000 บาท ที่เหลืออีก 44,000 บาท จะนำมาชำระให้ภายหลัง จำเลยก็ตกลง ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2532 นางจอยมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมโจทก์และทายาทต้องการแบ่งปันที่นาตามส่วนของตนจึงนำเงิน 44,000 บาทไปขอไถ่ที่นาคืน แต่จำเลยไม่ยอมอ้างว่าการขายฝากหมดอายุการไถ่ถอนแล้ว ความจริงนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์ นางจอยและจำเลยต่างรู้อยู่แล้วว่าเจตนาที่แท้จริงคือการกู้ยืมเงินนิติกรรมการขายฝากจึงบังคับไม่ได้ ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนการขายฝากที่นาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 363 หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองคง (คูขาด) อำเภอคงจังหวัดนครราชสีมา เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากลงวันที่ 6 มีนาคม 2529 ให้จำเลยรับเงิน44,000 บาท และส่งมอบที่นาพิพาทคืนให้โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่นาพิพาทต่อไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องนางจอย วิริยาสุวรรณ์มารดาโจทก์ได้รับโอนมาทางมรดกโดยการแบ่งปันกันระหว่างทายาทของนายขำ หมั่นนอก แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 นางจอยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532เดิมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 โจทก์และนายสุทินสามีโจทก์ได้กู้ยืมเงินจำเลยไป 30,000 บาท ยังไม่ได้ชำระ ต่อมากลางปีพ.ศ. 2525 นายสุทินจะเดินทางไปทำงานประเทศสิงค์โปร์แต่ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มาขอกู้เงินจำเลยอีก 30,000บาท จำเลยตกลงให้กู้ โดยให้นางจอยมารดาโจทก์เป็นผู้กู้เพราะเป็นผู้มีหลักทรัพย์ หลังจากบุคคลทั้งสามกู้ยืมเงินไปแล้วก็ไม่เคยชำระเงินคืนจำเลยจะฟ้องร้องเรียกเงินกู้คืน นางจอยมารดาโจทก์ขอผัดผ่อนโดยจะนำที่ดินพิพาทมาขายฝากให้จำเลย และให้จำเลยออกเงินไถ่ถอนจำนองที่พิพาท ซึ่งนางจอยจำนองไว้กับสหกรณ์การเกษตรคงสามัคคี จำกัด เป็นเงินประมาณ 54,249 บาท ให้ด้วยจำเลยตกลงตามที่นางจอยเสนอ นางจอยได้ไถ่ถอนจำนองแล้วนำที่พิพาทขายฝากให้จำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2529 กำหนดไถ่ถอนการขายฝากภายใน2 ปี การขายฝากนี้โจทก์รู้เห็นและลงชื่อเป็นพยานในการขายฝากด้วยเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วนางจอยไม่ไถ่ถอนจึงหมดสิทธิที่จะไถ่ถอนโจทก์เป็นทายาทของนางจอยย่อมหมดสิทธิไถ่ถอนการขายฝากด้วยเช่นกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การจดทะเบียนขายฝากที่ดิน น.ส.3เลขที่ 363 หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองคง (คูขาด) อำเภอคงจังหวัดนครราชสีมา เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากลงวันที่6 มีนาคม 2529 ให้จำเลยรับเงิน 44,000 บาท และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่าที่ดินพิพาทมีราคา 200,000 บาท ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มิถุนายน 2532 ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 200,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากทุนทรัพย์จำนวนนี้ ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์หาราคาประเมินที่ดินพิพาทเพื่อคำนวณเป็นทุนทรัพย์ของคดีขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาแทนทุนทรัพย์เดิม ย่อมไม่อาจทำได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนางจอยมารดาโจทก์ มิใช่เป็นเพียงผู้อาศัยสิทธิของนางจอยก็ดี นิติกรรมการขายฝากที่ดินระหว่างนางจอยกับจำเลยเป็นการทำเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินก็ดีเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์เป็นการมิชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์

Share