คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2468/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมบันทึกข้อตกลงชำระหนี้และการโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์ ระบุชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่าง ๆ ที่มีกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายไปให้จำเลยที่ 2 เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ตามบันทึกข้อตกลงชำระหนี้และการโอนสิทธิเรียกร้องที่ส่งมาพร้อมหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อ 6 ยังระบุว่า “ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ให้รวมถึงการโอนใบอนุญาต ตลอดจนสิทธิตามข้อตกลงของสัญญาจะซื้อจะขายที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ได้ทำสัญญาไว้กับลูกค้าตามรายละเอียดรายชื่อลูกค้ารวม 176 ราย ฯลฯ” ซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย และจำเลยที่ 2 ยังมีหนังสือถึงลูกค้าของโครงการรวมทั้งโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 จะรับภาระในการดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงที่จะพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ เพื่อโอนบ้านให้แก่ลูกค้าต่อไป การที่จำเลยที่ 1 โอนโครงการทั้งโครงการเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งโอนสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่าง ๆ ที่มีกับลูกค้าตามสัญญาจะซื้อจะขายไปให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนมาทั้งโครงการ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องและภาระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ด้วย เช่นนี้ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกรวมอยู่ด้วย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ดังกล่าว และมีพฤติการณ์ว่าเข้าถือเอาประโยชน์ด้วยการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แล้ว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนโครงการมาทั้งหมดไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จนกระทั่งโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวขอให้ชำระเงินราคาที่ดินคืน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์
แม้คดีนี้โจทก์จะตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าคำฟ้องมีประเด็นในเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกด้วย กรณีมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งต้องทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 427,085 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 406,748 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 427,085 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2538 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการคันทรี่ วิลเลจ อ่อนนุช จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและโจทก์ชำระราคาให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 406,748 บาท แต่โครงการไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในโครงการเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 พร้อมทั้งโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ทราบแล้ว ตามหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมบันทึกข้อตกลงชำระหนี้และการโอนสิทธิเรียกร้อง ต่อมาจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในโครงการให้จำเลยที่ 3 เข้าไปดำเนินการก่อสร้างในโครงการที่จำเลยที่ 3 ตั้งขึ้นมาใหม่ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมบันทึกข้อตกลงชำระหนี้และการโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ระบุชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่าง ๆ ที่มีกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายไปให้จำเลยที่ 2 เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ตามบันทึกข้อตกลงชำระหนี้และการโอนสิทธิเรียกร้องที่ส่งมาพร้อมหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อ 6 ยังระบุว่า “ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ให้รวมถึงการโอนใบอนุญาต ตลอดจนสิทธิตามข้อตกลงของสัญญาจะซื้อจะขายที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ได้ทำสัญญาไว้กับลูกค้าตามรายละเอียดรายชื่อลูกค้ารวม 176 ราย ฯลฯ” ซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 2 ยังมีหนังสือถึงลูกค้าของโครงการรวมทั้งโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 จะรับภาระในการดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงที่จะพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อโอนบ้านให้แก่ลูกค้าต่อไป ตามหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการคันทรี่ วิลเลจ อ่อนนุช การที่จำเลยที่ 1 โอนโครงการคันทรี่ วิลเลจ อ่อนนุช ทั้งโครงการเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งโอนสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่าง ๆ ที่มีกับลูกค้าตามสัญญาจะซื้อจะขายไปให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนมาทั้งโครงการ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องและภาระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ด้วย เช่นนี้ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกรวมอยู่ด้วย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ดังกล่าวและมีพฤติการณ์ว่าเข้าถือเอาประโยชน์ด้วยการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แล้ว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 374 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนโครงการมาทั้งหมดไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ เป็นฝ่ายผิดสัญญาจนกระทั่งโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวขอให้ชำระเงินราคาที่ดินคืนดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว จึงถือได้ว่าคำฟ้องมีประเด็นในเรื่องสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกด้วย กรณีมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งต้องทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อีก ดังที่จำเลยที่ 2 เข้าใจ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดคืนเงินแก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการคันทรี่ วิลเลจ อ่อนนุช จากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วนำไปจัดสรรใหม่ใช้ชื่อว่า “หมู่บ้านลลิลกรีนวิลล์” โดยไม่มีข้อตกลงรับโอนสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้เข้าไปจองซื้อบ้านจากโครงการของจำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share