แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1(8)(ฉ) “ขาย” หมายความว่าจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณวันเลิกประกอบกิจการ ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบกิจการจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการตามมาตราดังกล่าวซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการการที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการไปเป็นเงิน 305,500 บาทนั้น ถือว่าเป็นการขายตามมาตราดังกล่าวแล้ว จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ทั้งนี้แม้ว่ากิจการของโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามป.รัษฎากร มาตรา 81(1)(ข) ก็ตาม แต่เมื่อการขายทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์เป็นการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2(6) บัญญัติให้การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ.และ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร(ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(5) ได้กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ขายไปนั้นเป็นที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ดังนั้น การขายที่ดินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบการเกษตรกรรมซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 3(5) แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว จึงย่อมได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่พ.ร.ฎ.ดังกล่าวยกเว้นให้เฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเมื่อโจทก์ขายที่ดินรวมทั้งอาคารบนที่ดินนั้น การขายเช่นนี้โจทก์จึงต้องนำรายรับของราคาอาคารมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ