คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9170/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ที่ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น ดังนั้นหากโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วจำเลยบุกรุกไปครอบครอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิและเรียกค่าเสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ 234 ไร่ 3 งาน โดยซื้อมาจากจำเลยพร้อมกับบ้านเลขที่330/1 ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2536 จำเลยกับพวกได้บุกรุกที่ดินของโจทก์จำนวน 200 ไร่ และขับไล่ผู้ดูแลที่ดินและบ้านของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับพวกก็ถือโอกาสเข้าครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าวไม่ย่อมให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองเหนือที่ดิน 200 ไร่ ตามฟ้อง และโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 330/1 ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าวห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 35,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับว่า ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและโจทก์แถลงว่า โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตทำกินในที่ดินพิพาทแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดชี้สองสถานแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507มาตรา 14 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้เสียก่อน” ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นที่หวงห้ามซึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิเข้าครอบครองยึดถือ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีสิทธิทำกินได้ตามแต่กรณีซึ่งโจทก์ก็แถลงรับว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำกิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถาน ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามรูปคดีต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าแม้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 จะบัญญัติว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่นมิฉะนั้นก็จะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้กำลังกันโดยพลการ อันเป็นช่องทางให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วจำเลยเข้าไปบุกรุกเข้าครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2524 ระหว่างนายเรือง อินทร์เครือ โจทก์ นางมอญ ล้านมาหรือล้านสมจำเลย คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทกับบ้าน 1 หลังจากจำเลยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว และจำเลยได้ส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ครอบครองมาเกินกว่า 1 ปี ต่อมาจำเลยกับพวกได้บุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์ และขับไล่ผู้ดูแลที่ดินและบ้านโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้บ้านและที่ดินดังกล่าวคิดเป็นค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 35,000 บาท ซึ่งจำเลยก็ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในทุกประเด็น จึงชอบที่จะสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น และสมควรสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมให้ชัดเจนด้วย”
พิพากษายืน

Share