แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อเรือซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือและสินค้าพิพาทให้ผู้ซื้อสินค้าทราบยื่นคำร้องต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุมัตินำเรือเข้าจอดเทียบท่า ยื่นแสดงรายการสินค้าเพื่อขออนุมัตินำสินค้าพิพาทไปเก็บในคลังสินค้า ว่าจ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือนำไปวางที่ลานพักตู้สินค้าขออนุญาตกรมศุลกากรเปิดตู้สินค้าตรวจนับและจดรายการสินค้าเพื่อป้องกันการลักสินค้าและส่งมอบรายการสินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหลักฐานในการรับมอบสินค้า จ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยนำสินค้าขึ้นรถบรรทุกไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า มอบใบรับสินค้าแก่ผู้ซื้อสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อกรมศุลกากรในการดำเนินพิธีการศุลกากรและใช้แสดงต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับสินค้า การดำเนินการของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง เพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าวสินค้าพิพาทย่อมไม่อาจถึงมือของผู้ซื้อสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับผู้ขนส่ง อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนของทางทะเลโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล ผู้ขายสินค้าพิพาทมีสัญชาติญี่ปุ่น และส่งสินค้าพิพาทจากประเทศญี่ปุ่นโดยว่าจ้างสายการเดินเรือ อ. ซึ่งมีสัญชาติฮ่องกงเป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย แต่การขายสินค้ารายนี้เป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยการขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายมายังประเทศไทยก็กระทำโดยจำเลยซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย เมื่อสินค้าเกิดสูญหายขึ้นในประเทศไทยและบริษัทรับประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อแล้วรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับตามกฎหมายไทย หามีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13ให้ใช้กฎหมายใดบังคับในเรื่องค่าเสียหายไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 805,777.94 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดีศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 805,774.94 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของนายไพโรจน์ ปรุงวนิชย์ศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทจำเลย นายสมศักดิ์ ไกรพันธ์ พนักงานบริษัทจำเลย และนายสมพันธ์บุญยประเวศ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พยานจำเลยว่าตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 สายเดือนเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ ไลน์ ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าพิพาทไปยังท่าเรือกรุงเทพมหานคร เปิดตู้สินค้าและนำสินค้าไปเก็บยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อเรือไทยทับทิมซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัทจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาของเรือไทยทับทิมและสินค้าพิพาทให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ผู้ซื้อสินค้าทราบ ยื่นคำร้องต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขออนุมัตินำเรือไทยทับทิมเข้าจอดเทียบท่าตามเอกสารหมาย จ.11 ยื่นแสดงรายการสินค้าเพื่อขออนุมัตินำสินค้าพิพาทไปเก็บในคลังสินค้า ว่าจ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือนำไปวางที่ลานพักตู้สินค้า ขออนุญาตกรมศุลกากรเปิดตู้สินค้า ตรวจนับและจดรายการสินค้าเพื่อป้องกันการลักสินค้าและส่งมอบรายการสินค้าดังกล่าวให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหลักฐานในการรับมอบสินค้า จ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยนำสินค้าขึ้นรถบรรทุกไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า มอบใบรับสินค้าแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ เพื่อใช้แสดงต่อกรมศุลกากรในการดำเนินพิธีการศุลกากรและใช้แสดงต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับสินค้า ซึ่งหากไม่มีใบรับสินค้านี้ก็ไม่สามารถจะไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ เห็นว่าการดำเนินการของจำเลยดังได้ความมาเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง เพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าวสินค้าพิพาทย่อมไม่อาจถึงมือผู้ซื้อสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับสายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ไลน์ อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนของทางทะเล โดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า สินค้าตามฟ้องเกิดความเสียหายและสูญหายในระหว่างขนส่งหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าสินค้าพิพาทอาจถูกบรรจุมาไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ได้สูญหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์มีนางสาวทิปนี บุญยพุทธิเบิกความว่า ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าได้ส่งสินค้ามาครบจำนวนรวม 16 หีบห่อแล้ว ปรากฏตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.2 และใบกำกับหีบห่อและน้ำหนักเอกสารหมาย จ.3 ส่วนจำเลยมีนายไพโรจน์เบิกความว่าการบรรจุสินค้ารายพิพาท ผู้ส่งสินค้าจะเป็นผู้บรรจุเรียงและนับสินค้าเอง ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 ผู้ขนส่งไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เมื่อบรรจุสินค้าลงในตู้สินค้าแล้วผู้ขนส่งจะไปรับตู้สินค้าโดยไม่ได้ตรวจนับสินค้า เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์สอดคล้องกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสินค้าพิพาทสูญหายของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งรายงานว่าบริษัทเซ็นทรัล ออโตโมทีฟ โปรดักส์ จำกัด เคยค้าขายกับห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์มาแล้ว 6 ปี ไม่เคยส่งสินค้าขาดจำนวนมาให้เลย และรายงานของศุลกากรญี่ปุ่นเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 87ซึ่งได้ตรวจสอบจำนวนสินค้าพิพาทที่ส่งมาและบันทึกรายงานว่ามีจำนวน 16 หีบห่อ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงยิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลย เชื่อได้ว่าสินค้าพิพาทถูกบรรจุมาครบจำนวนแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปตามที่นายไพโรจน์พยานจำเลยเบิกความว่าเมื่อสายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ผู้ขนส่งไปรับตู้สินค้านั้นมีซีลผนึกปิดที่ตู้สินค้าเรียบร้อยและเมื่อมีการถ่ายสินค้าจากเรือซีแพค เล็กซ์ชิงตัน ที่บรรทุกสินค้ามาจากประเทศญี่ปุ่นลงเรือไทยทับทิมที่เมืองฮ่องกงก็ได้มีการตรวจดูความเรียบร้อยของซีล ซึ่งไม่มีรายงานแจ้งว่าซีลเสียหาย และเมื่อสินค้ามาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซีลก็ยังคงเรียบร้อยอยู่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งร่วมตรวจสอบซีลด้วยจึงได้ผนึกตราของศุลกากรควบกับซีลที่มากับตู้สินค้าจากนั้นจึงได้มีการนำตู้สินค้าไปวางที่ลานพักตู้สินค้าเพื่อรอเปิดตู้สินค้าและสำรวจสินค้าเพื่อนำไปเก็บในคลังสินค้าในวันรุ่งขึ้น และได้ความต่อไปตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ พยานจำเลยว่า เมื่อเปิดตู้สินค้าแล้วปรากฏว่าสินค้าพิพาทขาดหายไปจำนวน 4 ลัง นายสมศักดิ์เป็นพนักงาน จำเลยมีหน้าที่ตรวจเช็คซีลที่ตู้สินค้าก่อนเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจนับและนำสินค้าเข้าเก็บในคลังสินค้า แต่เบิกความรับว่าไม่เห็นเหตุการณ์ขณะตรวจซีลอันเป็นการสอดคล้องกับที่เคยให้การไว้ต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าไม่เห็นคนงานดึงหรือตัดซีลตามเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 74 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนายสมชาย ทัดติวงศ์ พนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ว่า หลังจากทราบว่ามีสินค้าพิพาทที่สูญหายจำหน่ายที่ร้านอะไหล่รถยนต์สวนมะลิ จึงได้ไปซื้อมา 1 ชุด ปรากฏว่าสินค้าที่ซื้อมามีรหัสสินค้าตรงกับรหัสสินค้าที่สั่งเข้า ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสินค้าพิพาทสูญหายของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.12 ว่า สินค้ารายนี้ได้นำเข้ามาในประเทศแล้ว แต่มาเกิดการสูญหายในช่วงเปิดตู้สินค้าและนำของเข้าเก็บในคลังสินค้า ดังนั้น เมื่อบริษัทจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายและมีหน้าที่นำสินค้าไปเก็บยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในการสูญหายของสินค้าพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 การวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายในคดีนี้ จะต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศที่คู่สัญญาตกลงกันไว้หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับขนสินค้าทางทะเลค.ศ. 1957 ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาได้ทำขึ้นบังคับ เห็นว่า แม้ปรากฏว่าบริษัทเซ็นทรัล ออโตโมทีฟโปรดักส์ จำกัด ผู้ขายจะมีสัญชาติญี่ปุ่น และส่งสินค้าพิพาทจากประเทศญี่ปุ่น โดยว่าจ้างสายเดินเรือโอเรียนท์ โอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ ไลน์ ซึ่งมีสัญชาติฮ่องกงเป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย แต่การขายสินค้ารายนี้เป็นการขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมโนยนต์ผู้ซื้อในประเทศไทย การขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายมายังประเทศไทยก็กระทำโดยบริษัทจำเลยซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย เมื่อสินค้าเกิดสูญหายขึ้นในประเทศไทย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อแล้วรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับตามกฎหมายไทย หามีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2483 มาตรา 13 ให้ใช้กฎหมายใดบังคับตามฎีกาของจำเลยไม่”
พิพากษายืน