แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด มีความหมายว่า หากกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่นั้น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอย่างไร คำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดและย่อมผูกพันคู่ความเฉพาะในคดีที่ได้มีการวินิจฉัยเท่านั้น หาผูกพันคู่ความที่พิพาทกันในคดีอื่นไม่ แม้คู่ความในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 321/2538 ของศาลแรงงานกลาง เป็นคู่ความเดียวกันและมูลคดีเป็นอย่างเดียวกันก็ตามแต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องในลักษณะเป็นการจ้างแรงงานซึ่งถ้าฟังได้ว่าเป็นการจ้างแรงงานดังที่โจทก์อ้าง คดีก็ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนไม่มีผลที่จะถือได้ว่าคดีนี้ไม่อยู่อำนาจของศาลแรงงานและศาลแรงงานก็ไม่มีอำนาจสั่งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นแพทย์ปริญญาและได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าขาย มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของจำเลยเป็นจำนวนมากทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยในสถานพยาบาลของจำเลยที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางเพื่อรับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2515 เป็นต้นมาโดยจำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานเป็นกรณีพิเศษ และตกลงจ่ายค่าจ้าง (ค่าตอบแทน) ให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ3,000 บาท โดยโจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างและจำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะลูกจ้างจึงได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานทุกประการ ในการปฏิบัติงานของโจทก์ในสถานพยาบาลของจำเลยโจทก์มีหน้าที่ในการทำงานที่เป็นงานประจำตามปกติของสถานพยาบาลโดยทั่วไปที่ไม่สามารถจะคาดหวังผลสำเร็จของงานได้และจำเลยก็ไม่ได้ถือเอาผลสำเร็จของงานเป็นเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้าง (ค่าตอบแทน) ให้แก่โจทก์ และในการทำงานจำเลยเป็นผู้กำหนดวันเวลาทำงาน และจัดหาสถานที่ทำงานรวมทั้งให้พนักงานของจำเลยมาปฏิบัติงานร่วมกับโจทก์ด้วยในการจัดทำบัตรผู้ป่วย การค้นหาบัตรและเก็บบัตรผู้ป่วยการเขียนชื่อผู้ป่วยในใบสั่งยา การชักประวัติผู้ป่วย การจัดให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจตามลำดับ ฯลฯ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ในการจ่ายยาการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่าง ๆ การฉีดยา การทำแผล การเย็บผลเป็นต้น โจทก์มีหน้าที่เพียงตรวจร่างกายผู้ป่วย สั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจพิเศษต่าง ๆ ทำการวินิจฉัยโรคตามที่ตรวจพบ แล้วสั่งการรักษาพยาบาลรวมทั้งการสั่งยาและยังมีหน้าที่ในการออกใบรับรองแพทย์ในกรณีต่าง ๆ เช่น การลาป่วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ ฯลฯ รวมทั้งในคำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับป้องกันดูแล รักษาสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ และแรงงานของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้กำหนดผลสำเร็จของงานว่า โจทก์จะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยวันละกี่รายผู้ป่วยแต่ละรายจะหายจากอาการป่วยหรือไม่และจำเลยก็มิได้คิดค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามจำนวนผู้ป่วยที่โจทก์ตรวจรักษา โจทก์ได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยในสถานพยาบาลของจำเลยที่อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2515 ติดต่อกันมาจนถึงวันที่31 ธันวาคม 2537 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า จำเลยมีแพทย์เพียงพอในการให้บริการแก่พนักงานแล้ว และโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โดยที่โจทก์ไม่มีความผิดประกอบกับบรรดาแพทย์ที่มีอยู่ในสถานพยาบาลของจำเลยที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางทั้งในปัจจุบันนี้จำเลยได้จ้างมาปฏิบัติภายหลังโจทก์ทั้งสิ้นและจำเลยก็ยังมีแพทย์ไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงานอีกด้วยการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ได้ทำงานให้แก่จำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา 22 ปี 3 เดือน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และเนื่องจากจำเลยได้ขอเปลี่ยนแปลงค่าจ้างที่คิดและจ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือน มาเป็นการคิดค่าจ้างให้เป็นรายชั่วโมงแต่เหมาจ่ายเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2531เป็นต้นมา และนอกจากนี้จำเลยยังต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ด้วย แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้โจทก์เลย โจทก์จึงขอเรียกค่าจ้างในวันหยุดที่ค้างจ่ายเป็นเวลา 5 ปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ค้างจ่ายในปี 2533ถึงปี 2537 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่31 ธันวาคมของปีที่ค้างจ่ายจนถึงวันชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 216,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในหน้าที่เดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่ได้รับครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป และหากจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ในโอกาสต่อไปให้จำเลยยื่นคำร้องขอเลิกจ้างต่อศาลแรงงานกลางก่อน และหากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,208,500 บาท ให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีนี้มีมูลคดีเป็นอย่างเดียวกันกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 3213/2538 ของศาลแรงงานกลาง และคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีหมายเลขแดงที่3213/2538 ว่า คดีดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงานตามมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังศาลแรงงานอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งถึงที่สุดแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้ และมีคำสั่งใหม่ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานจึงไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” ซึ่งมีความหมายว่า หากกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่นั้นให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอย่างไร คำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดและย่อมผูกพันคู่ความเฉพาะในคดีที่ได้มีการวินิจฉัยเท่านั้น หาผูกพันคู่ความที่พิพาทกันในคดีอื่นไม่ แม้จะได้ความว่าคู่ความในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 321/2538 ของศาลแรงงานกลางเป็นคู่ความเดียวกันและมูลคดีเป็นอย่างเดียวกัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องในลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน ซึ่งถ้าฟังได้ว่าเป็นการจ้างแรงงานดังที่โจทก์อ้างคดีก็ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนไม่มีผลที่จะถือได้ว่าคดีนี้ไม่อยู่อำนาจของศาลแรงงานและศาลแรงงานกลางก็ไม่มีอำนาจสั่งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานเพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 4 กันยายน 2538ที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา โดยให้ดำเนินการพิจารณาคดีของโจทก์ต่อไป