คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่จำเลย บริษัท พ. ผู้รับประกันภัยรถของจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่จำเลยเมื่อได้รับคำร้องขอจากจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 โดยโจทก์หามีนิติสัมพันธ์ใดต่อบริษัท พ. ไม่ เว้นแต่โจทก์จะได้รับสิทธิดังกล่าวจากจำเลย เช่น จำเลยตั้งแต่งโจทก์ให้เป็นตัวแทนไปเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัท พ. ให้แก่จำเลย หรือจำเลยแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้โดยโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนดำเนินการเบิกและรับค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท พ. กับมีเอกสารคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น บต.4 โดยโจทก์เป็นผู้ขอรับจากบริษัท พ. ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่ทางราชการจัดทำขึ้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อใช้ประกอบการใช้สิทธิของจำเลยโดยการตั้งแต่งโจทก์ให้เป็นตัวแทนแนบด้วย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ในการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัท พ. เป็นการใช้สิทธิในฐานะตัวแทนของจำเลย ตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้อันจะพึงต้องใช้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303, 306 และมาตรา 349 วรรคสาม ซึ่งจะเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไป ส่วนข้อความที่ปรากฏในเอกสาร บต.4 ว่า “เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นหนี้ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้รับมอบอำนาจ…” ก็เป็นเพียงการให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัท พ. รับทราบประกอบการพิจารณาจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือไม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้รับเงินจากบริษัท พ. โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 16,571.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 14,413 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2548 จำเลยได้รับอุบัติเหตุจราจรและเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลของโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2548 คิดเป็นค่ารักษาพยาบาล 14,413 บาท จำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถมีสิทธิขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจึงได้มอบอำนาจให้โจทก์ไปรับเงินค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยรถคันที่จำเลยขับได้เอาประกันภัยไว้มาชำระให้แก่โจทก์แทนจำเลย แต่บริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวแก่โจทก์เนื่องจากต้องคำสั่งของศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนไปรับเงินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นซึ่งจำเลยค้างชำระค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์จากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่จำเลย บริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถของจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่จำเลยเมื่อได้รับคำร้องขอจากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 โดยโจทก์หามีนิติสัมพันธ์ใดต่อบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ไม่ เว้นแต่โจทก์จะได้รับสิทธิดังกล่าวจากจำเลย เช่น จำเลยตั้งแต่งโจทก์ให้เป็นตัวแทนไปเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ให้แก่จำเลย หรือจำเลยแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้โดยโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์ เป็นต้น สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 17 มีนาคม 2548 ให้โจทก์เป็นตัวแทนดำเนินการเบิกและรับค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด กับมีเอกสารคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น บต.4 โดยโจทก์เป็นผู้ขอรับจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่ทางราชการจัดทำขึ้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อใช้ประกอบการใช้สิทธิของจำเลยโดยการตั้งแต่งโจทก์ให้เป็นตัวแทนแนบด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ในการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด เป็นการใช้สิทธิในฐานะตัวแทนของจำเลย มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้อันจะพึงต้องใช้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303, 306 และมาตรา 349 วรรคสาม ซึ่งจะเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไป ส่วนข้อความที่ปรากฏในเอกสาร บต.4 ว่า “เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นหนี้ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้รับมอบอำนาจ…” ก็เป็นเพียงการให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด รับทราบประกอบการพิจารณาจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือไม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้รับเงินจากบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 14,413 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มีนาคม 2550) ต้องไม่เกิน 2,158.98 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share