แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้ร่วมเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทาน จึงมีหน้าที่ต้องไปดูบริเวณที่ดินและตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรเพื่อให้ทราบถึงจำนวนเงินที่แท้จริงที่โจทก์จะต้องจ่ายค่าทดแทนและค่ารื้อย้ายทรัพย์สินการที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตรวจดูรายงานของเจ้าหน้าที่คนอื่นแล้วร่วมลงชื่อ โดยมิได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และเป็นสาเหตุให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินของราษฎรตามที่คณะอนุกรรมการเสนอเรื่องไป ความเสียหายที่โจทก์จ่ายเงินทดแทนเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินตามความเป็นจริงจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ร่วมกับบุคคลอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับบุคคลอื่นดังกล่าวร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในความเสียหายทั้งหมดแต่เพียงคนเดียวก็ได้ คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์คดีนี้ได้สอบสวนมีความเห็นว่า จำเลยทั้งหกเป็นผู้กระทำละเมิด ควรลงโทษทางวินัยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหก ได้เสนอเรื่องราวตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีกรมโจทก์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2527 ในวันเดียวกันอธิบดีกรมโจทก์เห็นว่ายังไม่มีการเสนอเรื่องผ่านรองอธิบดีเป็นการผิดขั้นตอน จึงมีคำสั่งให้เสนอรองอธิบดีพิจารณาเรื่องก่อน รองอธิบดีเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมโจทก์เมื่อวันที่3 กุมภาพันธ์ 2527 และอธิบดีกรมโจทก์มีบันทึกเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 เมื่อปรากฏว่าในวันที่อธิบดีกรมโจทก์มีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อรองอธิบดีก่อนนั้นอธิบดีกรมโจทก์เพียงแต่อ่านหัวเรื่องและทราบว่ามีการสอบสวนเรื่องนี้เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่า อธิบดีกรมโจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในวันที่ 27 มกราคม 2527 กรณีต้องถือว่ากรมโจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันที่ 6 กุมภาพันธ์2527 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีกรมโจทก์พิจารณาเรื่องราวและความเห็นของเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2528ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการประจำในสังกัดโจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทานโครงการพนมทวน โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ตำแหน่งพนักงานจัดหาที่ดิน ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและต้นผลไม้ร่วมกับจำเลยที่ 1และบุคคลอื่นด้วย จำเลยทั้งหกจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจำเลยที่ 1 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ออกไปร่วมตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร แต่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กระทำการทุจริตจดบันทึกรายการทรัพย์สินที่ตรวจสอบไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยจดแจ้งจำนวนทรัพย์สินดังกล่าวมากกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่ารื้อย้ายทรัพย์สินและต้นผลไม้ของราษฎรไปเกินกว่าจำนวนที่แท้จริง การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคณะกรรมการสอบสวนของโจทก์ได้เสนอรายงานการสอบสวนให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การปฏิบัติงานด้านจัดหาที่ดิน และการออกไปตรวจสอบทรัพย์สินทั้งการจัดทำบันทึกนั้นมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยตรงจำเลยที่ 1 เพียงร่วมลงชื่อในบันทึกรายการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อให้ครบองค์ประกอบของกรรมการ และให้งานของทางราชการสำเร็จลุล่วงไปเท่านั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมทำการทุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 5ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินในที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทานร่วมกับจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่น ๆ ตามฟ้อง จำเลยที่ 5 มิได้กระทำการทุจริตฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทานจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องไปดูบริเวณที่ดินที่ถูกเขตชลประทานรวมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรเพื่อจะได้ทราบถึงจำนวนเงินที่แท้จริงที่โจทก์จะต้องจ่ายค่าทดแทนและค่ารื้อย้ายทรัพย์สินของราษฎรการที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตรวจดูรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จัดหาที่ดินคนอื่นแล้วเชื่อตามรายงานดังกล่าวโดยมิได้ออกไปดูที่ดินที่ถูกเขตชลประทานด้วยตนเอง จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1เอง หากจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเวลาที่จะไปตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรดังกล่าวด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 ก็จะต้องไม่ลงชื่อในใบตรวจสอบบ้านเรือนและต้นไม้ร่วมกับอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคนอื่น การที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อในใบตรวจสอบบ้านเรือนและต้นไม้นั้นย่อมเป็นสาเหตุทำให้โจทก์เชื่อว่าราษฎรมีทรัพย์สินตามเอกสารดังกล่าวและจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินของราษฎรตามที่คณะอนุกรรมการเสนอเรื่องไปความเสียหายของโจทก์ที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ราษฎรเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินตามความเป็นจริง จึงเกิดจากการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์มีนายอำเภอท้องที่ กำนันท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ เจ้าหน้าที่จัดหาที่ดินและนายช่างชลประทานซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทานจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 ร่วมกับบุคคลอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1กับบุคคลอื่นดังกล่าวก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 กับบุคคลอื่นให้ร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ หรือฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในความเสียหายทั้งหมดแต่เพียงคนเดียวก็ได้
ปัญหาสุดท้ายที่จะวินิจฉัยคือ คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์คดีนี้ ภายหลังจากการสอบสวนเสร็จแล้วคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า จำเลยทั้งหกเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ควรลงโทษทางวินัยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกครั้นวันที่ 18 มกราคม 2527 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำบันทึกเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาตามลำดับชั้นและถึงอธิบดีของโจทก์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2527 แต่ในวันเดียวกันนั้นอธิบดีของโจทก์ได้มีคำสั่งให้รองอธิบดีของโจทก์พิจารณาเรื่องก่อนเนื่องจากไม่มีการเสนอเรื่องผ่านรองอธิบดี ซึ่งเป็นการผิดขั้นตอนและขณะที่สั่งให้ส่งเรื่องให้รองอธิบดีดังกล่าว อธิบดีของโจทก์เพียงแต่อ่านหัวเรื่องและทราบว่ามีการสอบสวนเรื่องนี้เท่านั้น จนวันที่3 กุมภาพันธ์ 2527 รองอธิบดีจึงเสนอความเห็นต่ออธิบดีของโจทก์ต่อมาวันที่ 6 เดือนเดียวกันอธิบดีของโจทก์ได้มีบันทึกเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าในวันที่ 27 มกราคม 2527 อธิบดีของโจทก์รู้เรื่องการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา กรณีนี้ต้องถือว่ากรมโจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีของโจทก์พิจารณาเรื่องราวและความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับล่างแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่28 มกราคม 2528 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน